รีเซต

ลูกจ้างเฮ! ครม.ไฟเขียวตั้งกบช. บังคับแรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเข้ากองทุน

ลูกจ้างเฮ! ครม.ไฟเขียวตั้งกบช. บังคับแรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเข้ากองทุน
ข่าวสด
30 มีนาคม 2564 ( 17:49 )
174
ลูกจ้างเฮ! ครม.ไฟเขียวตั้งกบช. บังคับแรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเข้ากองทุน

ลูกจ้างเฮ! ครม.ไฟเขียวตั้ง กบช. บังคับแรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เข้ากองทุน ส่งเงินสมทบเป็นขั้นบันได

 

 

ครม.ไฟเขียวตั้งกบช. - น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และคาดว่าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี ปีละ 1 ล้านคน แต่ประชาชนไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการวางแผนทางการเงินไว้ใช้หลังเกษียณ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเมื่อเข้าถึงวัยสูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ และเป็นการสร้างวินัยการออมของประชาชนวัยทำงาน

 

 

ครม. จึงอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ฉบับแรก ได้แก่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ คือ 1. จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ โดยรายได้ของ กบช. ไม่ต้องนำส่งคลัง

 

 

2. กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและไม่เกิน 60 ปี (ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ต้องเป็นสมาชิกของ กบช. 3. กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย แบ่งเป็น ปีที่ 1-3 ไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6 ไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง ปีที่ 7-9 ไม่น้อยกว่า 7% ของค่าจ้าง ปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่า 7-10% ของค่าจ้าง โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว หากลูกจ้างและนายจ้างต้องการส่งเพิ่ม สามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง

 

 

4. การรับเงินจาก กบช. เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง เงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทน กรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จก็สามารถทำได้ เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

 

 

ฉบับที่สอง ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในการกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน จนเกิดความซ้ำซ้อนทั้งการดำเนินงาน งบประมาณ และบุคลากร สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า แม้ว่าการจัดตั้ง กบช. จะทำให้รายได้รายเดือนของลูกจ้างลดลงและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้นายจ้าง แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ลูกจ้างทำให้มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ ทำให้นายจ้างมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ลูกจ้าง และการออมภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งช่วยบรรเทาภาระงบประมาณการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง