รีเซต

PMDD คืออะไร? มีอาการอย่างไร ผู้หญิงหลายคนเสี่ยงเป็น แต่ไม่รู้ตัว

PMDD คืออะไร? มีอาการอย่างไร ผู้หญิงหลายคนเสี่ยงเป็น แต่ไม่รู้ตัว
TNN ช่อง16
7 เมษายน 2568 ( 15:19 )
6

หมอเจด เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “หมอเจด” ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เรื่อง PMDD

โดยระบุว่า ยิปซีป่วย PMDD รุนแรง ผู้หญิงหลายคนเสี่ยงเป็น แต่ไม่รู้ตัว!

ไม่นานมานี้ได้ฟังบทสัมภาษณ์ของคุณ “ยิปซี คีรติ” ที่พูดถึงอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน  เธอเล่าว่า มันไม่ได้เป็นแค่ความเหวี่ยงหรืออารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แบบที่หลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้หญิง แต่มันคือสัญญาณของร่างกายที่เริ่มรวน จากความเครียดเรื้อรัง  หรือการดูแลตัวเองแบบสุดโต่งเกินไป

รู้จัก PMDD – Premenstrual Dysphoric Disorder


1. PMDD คืออะไร แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง?

PMDD หรือ Premenstrual Dysphoric Disorder คืออาการที่เกิดจาก “สมองไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง” ในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่เหวี่ยงนิดหน่อย แต่ไปกระทบทั้งอารมณ์ สมอง และระบบประสาท

สิ่งสำคัญต้องพูดถึงคือ "เซโรโทนิน (serotonin)" ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความสุข และการนอนหลับ โดยปกติฮอร์โมนเพศหญิงจะมีผลต่อระดับเซโรโทนินด้วย  แต่ในคนที่เป็น PMDD สมองจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแบบรุนแรง
ทำให้เซโรโทนินแปรปรวนตาม และนำไปสู่อาการทางอารมณ์ที่ชัดเจนมาก เช่น ซึมเศร้า ร้องไห้ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้อาการแย่ลงยังรวมถึง ความเครียดเรื้อรัง และคอร์ติซอลสูง  ซึ่งอาจเกิดจากการอดอาหาร ออกกำลังกายหนักเกิน หรือนอนไม่พอ
→ ร่างกายจะเข้าโหมด "ตื่นตัวตลอดเวลา" (fight-or-flight mode) → สมดุลฮอร์โมนเพศรวนแบบที่ไม่รู้ตัวเลย
อันนี้คือสิ่งที่เกิดกับยิปซีเลยครับ ออกกำลังกายเยอะ แต่นอนน้อย กลัวอ้วน เลี่ยงไขมัน → ร่างกายเลยแอบพังเงียบๆ จากข้างใน

2. สัญญาณที่ไม่ควรมองข้าม

ถ้ามีอาการเหล่านี้วนมาเกือบทุกเดือนก่อนเมนส์ แล้วรู้สึกว่ามันรบกวนชีวิตประจำวัน นั่นอาจไม่ใช่อาการทั่วไปที่เจอก่อนประจำเดือนมานะ
-อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แบบควบคุมไม่ได้ / หงุดหงิดง่าย
-วิตกกังวล ซึมเศร้า รู้สึกเครียดแบบไม่มีเหตุผล
-ร้องไห้เองง่ายๆ เบื่อโลก อยากอยู่คนเดียว อยากหายไป
-นอนไม่หลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ สมองไม่ยอมปิด
-น้ำหนักลดเร็ว กล้ามเนื้อหาย ผมร่วง ผิวแห้งลง
-ประจำเดือนมาน้อย หรือมาไม่สม่ำเสมอ
-อยากกินแป้งหรือของหวานมากเป็นพิเศษก่อนเมนส์

ถ้าอาการพวกนี้เกิดซ้ำๆ ทุกเดือน และเริ่มทำให้ใช้ชีวิตยากขึ้นเรื่อยๆ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ  ใครมีอาการแบบนี้อย่าลืมไปปรึกษาหมอ

3. ดูแล PMDD ยังไงดี? เริ่มจากจัดการความเครียดและฮอร์โมนไปพร้อมกัน

PMDD ต้องจัดการทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน คือเรื่องของ ฮอร์โมนเพศ และ ความเครียดเรื้อรัง เพราะถ้าร่างกายยังคิดว่าเราอยู่ในโหมดเอาตัวรอด  มันก็จะไม่ยอมผลิตฮอร์โมนเพศตามปกติเลย แนวทางดูแลที่พอทำได้มีแบบนี้

-กินมื้อเช้าให้ครบ ไขมันดี (เช่น MCT, น้ำมันมะกอก, Omega-3) + โปรตีนคุณภาพดี ช่วยให้ระดับน้ำตาลและฮอร์โมนเช้าไม่เหวี่ยง
-ไม่ต้องอดอาหารหักโหม  ถ้าทำ IF แล้วรู้สึกล้า เครียด หรือหิวเกินไป แนะนำให้เบาลงหรือหยุดไปเลยก่อน
-คาร์บมื้อเย็นต้องมี โดยเฉพาะคนที่ผอมมาก หรือกล้ามเนื้อหาย → แต่ต้องเลือกเป็นคาร์บดีๆ อย่าเช่นพวก
- ฟักทอง มัน ควินัว ลูกเดือย
-อย่ากลัวไขมัน: เพราะฮอร์โมนเพศหลายตัวสร้างจากไขมัน ถ้าไม่พอ ระบบฮอร์โมนรวนได้ง่ายมาก
-ออกกำลังกายให้เหมาะกับช่วงอาการ ถ้ารู้สึกล้า ไม่ต้องฝืน HIIT หรือ cardio หนักๆ → เดินเบาๆ เล่นโยคะ หรือพักไปเลยก็ได้

4. ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับ PMDD  มันมากกว่าตัวเดียวแน่นอน

จริงๆ แล้วร่างกายเราใช้ฮอร์โมนหลายตัวร่วมกัน ไม่ได้มีแค่เอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรนเท่านั้น
Cortisol – ตัวหลักของความเครียด ถ้าสูงนานๆ จะกดการทำงานของฮอร์โมนเพศ
Progesterone – ถ้าลดลงมากๆ จะทำให้อารมณ์เหวี่ยงขึ้นๆ ลงๆ แบบไม่รู้ตัว
Estrogen – สมองของคนที่มี PMDD มักตอบสนองต่อเอสโตรเจนแรงกว่าปกติ
Serotonin – ตัวหลักที่ควรพูดถึงนะ เซโรโทนินคือสารสื่อประสาทแห่งความสุข
 ที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนฮอร์โมน → ส่งผลตรงต่ออารมณ์ใน PMDD
Leptin – ถ้าร่างกายรู้สึกว่าพลังงานไม่พอ ระบบสืบพันธุ์จะมีปัญหาทันที
Melatonin – ถ้านอนดี ร่างกายจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ถ้านอนไม่ดี = ฮอร์โมนรวนหมด


5. นอนดี กินดี เกลือแร่ครบ + ปรึกษาหมอเมื่อจำเป็น

หลายคนอาจมองข้ามเรื่องง่ายๆ อย่าง “การนอน” หรือ “อาหาร” แต่จริงๆ แล้วสิ่งพวกนี้คือพื้นฐานที่ร่างกายต้องการมากที่สุด
- การนอนที่ดี  ไม่ใช่แค่นอนนาน แต่ต้องหลับลึก ไม่ตื่นกลางดึก และตื่นมาแล้วสดชื่น
- แร่ธาตุสำคัญ  เกลือแร่ธรรมชาติ (เช่น เกลือชมพู ดอกเกลือ เกลือดำ) ช่วยเรื่องระบบประสาทและสมดุลน้ำในร่างกาย
แต่ถ้ามีโรคประจำตัวอย่างความดันสูงหรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสริม
- ของหมักดีๆ  อย่างนัตโตะ กิมจิ หรือโยเกิร์ตธรรมชาติ ช่วยบำรุงลำไส้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสารสื่อประสาทกว่า 70%
ของร่างกาย รวมถึงเซโรโทนินด้วย
- การรักษาทางการแพทย์  ถ้าอาการหนักจนกระทบชีวิตจริงๆ  แพทย์อาจแนะนำยา SSRIs (เช่น fluoxetine, sertraline) หรือฮอร์โมนบำบัด ซึ่งถือว่าเป็นวิธีรักษาหลักของ PMDD ที่ได้รับการรับรอง

ถ้าใครกำลังสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่คือ PMDD หรือเปล่า อย่าปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ ครับ ลองจดบันทึกอาการแต่ละเดือนเหมือนที่คุณยิปซีทำ แล้วไปคุยกับแพทย์เพื่อหาคำตอบที่แน่ชัด เพราะบางอาการก็คล้ายกับภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาทางจิตอื่นๆ ได้เหมือนกัน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เช็กด่วน! สัญญาณเตือนอาจเป็น "มะเร็ง" ได้ใน 6 เดือน อาการอะไรบ้างที่ต้องจับตา

- 5 ปัจจัย คนไทยอายุต่ำกว่า 50 ปีป่วย "มะเร็ง" มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า

-โรคหลอดเลือดสมอง! คร่าชีวิตคนไทยสูงรองจากมะเร็ง เช็กอาการ-วิธีป้องกัน

- หมอเตือน! แสบหน้าอก เรอบ่อย ระวังกรดไหลย้อนเสี่ยงมะเร็ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง