อินเดียสร้าง “กระท่อมหญิงมีประจำเดือน” ให้มีน้ำไฟพร้อม ปลอดภัยสะดวกสบายกว่าเดิม
กระท่อมเก่าผุพังซอมซ่อหลังเล็กแคบ ไม่มีทั้งประตูและหน้าต่าง ซ้ำร้ายยังไม่มีห้องสุขา ไฟฟ้า น้ำใช้ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ถือเป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนในวัฒนธรรมฮินดูชินชากับมันไปเสียแล้ว เพราะพวกเธอต้องไปอาศัยอยู่ที่กระท่อมแบบนี้เป็นเวลานานถึง 5 วันต่อเดือน ระหว่างที่มีระดูไหลออกมาเปรอะเปื้อนร่างกาย อันถือเป็นมลทินตามความเชื่อทางศาสนา
มีผู้หญิงหลายคนได้รับอันตรายถึงชีวิตจากสัตว์ป่า โรคภัย และสภาพอากาศรุนแรง ระหว่างที่ถูกแยกไปอยู่ตามลำพังใน "กระท่อมหญิงมีประจำเดือน" ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชนตามชายป่าชายเขา แต่ถึงกระนั้น ธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากความเชื่อฝังลึกที่สืบทอดกันมานานไม่อาจถูกลบล้างไปโดยง่าย
เพื่อที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้หญิงที่น่าสงสารเหล่านี้ สมาคมเพื่อสวัสดิการสังคม "เขรวดี" (KWSA) องค์กรเอกชนที่มีสำนักงานใหญ่ที่นครมุมไบ กำลังเร่งสร้างกระท่อมหญิงมีประจำเดือนแบบใหม่ที่มิดชิดมั่นคงแข็งแรง มีไฟฟ้าจากแผงเซลล์สุริยะและมีห้องสุขาในตัว ให้กับหมู่บ้านหลายแห่งในรัฐมหาราษฏระของอินเดีย
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้สร้างกระท่อมหญิงมีประจำเดือนแบบใหม่ไปแล้วนับสิบแห่ง โดยกลุ่มผู้หญิงวัยที่ยังมีระดูราว 90 คนที่หมู่บ้านทูคุม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ KWSA ลงมือสร้างกระท่อมแบบนี้เป็นแห่งแรก บอกว่าชีวิตของพวกเธอเปลี่ยนแปลงไปมาก รู้สึกอุ่นใจและมีความสะดวกสบายมากขึ้นเมื่อถึงวันนั้นของเดือน
ผู้หญิงในหมู่บ้านแห่งนี้เล่าว่า กระท่อมแบบเก่าร้อนจัดจนแทบอยู่ไม่ได้ในฤดูร้อน แต่ก็ทำให้ต้องหนาวสั่นไปถึงกระดูกในฤดูหนาว บางคนถูกหมีทำร้ายหรือถูกงูเลื้อยเข้าไปกัดจนเสียชีวิตโดยไม่มีใครช่วยเหลือ "เมื่อก่อนนี้ฉันถึงกับกลัวจนนอนไม่หลับเวลาที่ต้องไปอยู่คนเดียวที่นั่น มันมืดสนิทไปหมดทุกด้าน" ชีตัล นาโรต หญิงวัย 21 ปีกล่าว
ผู้คนในท้องถิ่นมักเรียกกระท่อมหญิงมีประจำเดือนว่า "กูรมาคาร" โดยถือว่าเป็นสถานที่ต้องห้ามซึ่งสกปรกสำหรับคนทั่วไป ผู้หญิงมีประจำเดือนไม่อาจย่างเท้าเข้าไปในวัดหรือศาสนสถาน ผู้ชายไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวพวกเธอได้ หากพลาดไปแตะต้องเข้าแล้วจะต้องอาบน้ำชำระล้างตัวในทันที
ส่วนหญิงที่อยู่ในกูรมาคารจะทำอาหารหรือตักน้ำจากบ่อของหมู่บ้านมาใช้ไม่ได้เด็ดขาด ทำให้ต้องรอคอยอาหารจากที่ญาติผู้หญิงนำมาให้ ถ้าหากต้องการใช้น้ำมาบริโภคหรือซักล้าง ก็ต้องเดินไปยังแม่น้ำที่ห่างออกไปกว่าหนึ่งกิโลเมตร
ผลสำรวจที่จัดทำโดยองค์กรเอกชนแห่งหนึ่งพบว่า ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา 98% ของกูรมาคารในท้องถิ่นรวม 223 แห่ง ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ปลอดภัยต่อผู้เข้าไปพักอาศัย โดยมีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 21 คน ทั้งที่สาเหตุการตายเหล่านั้นสามารถป้องกันได้
แม้การแก้ปัญหาที่แท้จริงควรจะเป็นวิธีให้การศึกษา เพื่อขจัดความเชื่องมงายอย่างถอนรากถอนโคน และการยกฐานะสตรีให้เท่าเทียมกับบุรุษ แต่สิ่งเหล่านี้ใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย เพราะชาวบ้านยังคงเชื่อแบบฝังหัวว่า การฝ่าฝืนประเพณีจะทำให้เทพเจ้าพิโรธ จนพาลลงโทษพวกเขาด้วยการส่งโรคร้ายหรือแม้กระทั่งความตายมาให้
ความหวังเดียวที่พอมีอยู่ในตอนนี้ จึงได้แก่การก่อสร้างกระท่อมหญิงมีประจำเดือนของ KWSA ที่ทันสมัย มีประตูหน้าต่างที่ปิดล็อกได้และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ หลังละ 650,000 รูปี หรือราว 280,000 บาท
"ประสบการณ์ที่ผ่านช่วยชี้ให้เห็นว่า เราไม่อาจจะเอาชนะปัญหานี้ได้ด้วยการดับเครื่องชน" นายดิลิป บาร์ซาเกด ประธานองค์กรการกุศล Sparsh กล่าว "การเปลี่ยนแปลงทัศนคติกำลังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาเริ่มตั้งคำถามกับธรรมเนียมโบราณ แต่มันต้องใช้เวลากว่าที่ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นสักวันในอนาคต"