รีเซต

ม.หอค้า ชี้ส่งออกไทย ปี 65 น่าห่วงโตสูงสุด 4.8% เผชิญ 11 ปัจจัยส่งผลเสีย2แสนล้าน

ม.หอค้า ชี้ส่งออกไทย ปี 65 น่าห่วงโตสูงสุด 4.8% เผชิญ 11 ปัจจัยส่งผลเสีย2แสนล้าน
มติชน
21 ธันวาคม 2564 ( 13:12 )
85
ม.หอค้า ชี้ส่งออกไทย ปี 65 น่าห่วงโตสูงสุด 4.8% เผชิญ 11 ปัจจัยส่งผลเสีย2แสนล้าน

ข่าววันนี้ นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยของปี 2565 ภายใต้ 4 ปัจจัยบวก 6 ปัจจัยลบ และ 5 ปัจจัยที่ต้องติดตามต่างๆ โดยปัจจัยบวกต่อการส่งออก คือ 1. เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้ายังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 2. เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า คาดเฉลี่ย 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 3. หลายประเทศมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น 4. แนวโน้มความต้องการสินค้าสุขภาพและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่มากขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบต่อการส่งออก คือ 1. การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศจากสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งประเมินว่าการแพร่ระบาดจะรุนแรงมากสุดในคริสมาสต์-ปีใหม่ และอยู่ต่อเนื่องในไตรมาส1และ2 ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออก 1-2% หรือคิดเป็นมูลค่า 2-4 หมื่นล้านบาท 2. ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ที่ลดทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค ผลจากต้นทุนสูงราคาสินค้าแพงขึ้นดันเงินเฟ้อโลก สูงขึ้น 3.8% 3. นโยบาย ZERO COVID ของจีน เป็นอุปสรรคือส่งออก-น้ำเข้าสินค้า และเดินทางระหว่างกัน 4. ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางสูง แม้อาจไม่รุนแรงเป้าปี 2564 แต่น่าจะขาดประมาณ 1.5 แสนตู้ 5. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น จากความต้องการสูงขึ้น ความตึงเครียดของในยูเครน และโอเปคลดกำลังผลิต คาดราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยเกิน 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปีนี้ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 6. ปัญหาการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (SUPPLY CHAIN DISRUPTION) ซึ่งหากขาดแคลนวัตถุดิบถึง 15% ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร กระทบต่อการส่งออกถึง 4.4%

 

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในปี 2565 คือ 1. ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2565 ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าไทยจะได้ดุลการค้าหรือเสียดุลการค้าหลังอาร์เซป ซึ่งเดิมไทยยังขาดดุลรวมกับสมาชิกในอาเซปประมาณ 1.4-1.6 แสนล้านบาท 2. การดำเนินการของรถไฟลาว-จีน ซึ่งทำให้หลายประเทศในอาเซียนหรือนอกอาเซียนสนใจลงทุนการตั้งศูนย์กระจายสินค้าและขนส่งเพื่อหวังเป็นศูนย์กลางอาเซียน ก็จะทำให้ไทยส่งออกได้ลดลงและขาดดุลการค้าตั้งแต่ปีแรกของโครงการนี้เปิดบริการประมาณ 6 พันล้านบาท 3. นโยบายการเปิด/ปิดประเทศของประเทศคู่ค้าหรือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่อาจเข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้า ซึ่งขณะนี้โอไมครอนระบาดรุนแรงในยุโรป และสหรัฐ 4. สงครามการค้า เทคโนโลยี ค่าเงินระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ และ 5. ภาษีคาร์บอนตลาดยุโรปในปี 2566 ซึ่งไทยเหลือเวลาปรับตัวเพียง 1 ปีเท่านั้น

 

นายอัทธ์ กล่าวต่อ จากปัจจัยทั้ง 15 ประเด็น ทำให้แบ่งความน่าจะเป็นออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีโอไมครอนระบาดในโลกไม่รุนแรง ไม่เกินไตรมาส2/2565 ประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 275,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (270,952 – 279,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ขยายตัว 3.2% ถึง 6.3% ค่ากลาง 4.8% กรณีโอไมครอนระบาดในโลกอย่างรุนแรงเกือบทั้งปี ประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 262,991 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (259,050 – 266,822 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยติดลบ 1.3% ถึง 1.6% ค่ากลาง 0.2% ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 ส่งออกไทยขยายตัว 13.3% และมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 3-5%

 

” ปัจจัยลบและปัจจัยที่ต้องติดตาม หากเกิดขึ้นรุนแรงจะกระทบต่อการส่งออกไทยทันที 1-2 แสนล้านบาท หรือ กระทบต่อตัวเลขาส่งออก 2-3% ในระยะสั้นรัฐบาลและภาคเอกชนต้องเร่งลดอุปสรรค ทั้งเรื่องการเจรจากับจีน เปิดช่องทางทางด่วนให้สินค้าไทยที่ผ่านการตรวจตามมาตรฐานสาธารณสุขเข้าตรงโดยไม่พักถ่ายในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ส่งเสริมการเข้าไปตั้งศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า บริการจัดการเรื่องต้นทุนสินค้า เร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถร่วมใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีน เช่น สะพานหนองคายแห่งที่ 2 เชื่อมเส้นทางหนองคายกับเวียงจันทน์ใต้ ” นายอัทธ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง