รีเซต

ไวรัสโคโรนา : เปิดข่าวลวงช่วงโควิด-19 ระบาด จากจดหมายของบิล เกตส์ ถึง เฮลิคอปเตอร์พ่นยาฆ่าเชื้อ

ไวรัสโคโรนา : เปิดข่าวลวงช่วงโควิด-19 ระบาด จากจดหมายของบิล เกตส์ ถึง เฮลิคอปเตอร์พ่นยาฆ่าเชื้อ
บีบีซี ไทย
30 มีนาคม 2563 ( 05:36 )
285
ไวรัสโคโรนา : เปิดข่าวลวงช่วงโควิด-19 ระบาด จากจดหมายของบิล เกตส์ ถึง เฮลิคอปเตอร์พ่นยาฆ่าเชื้อ
Reuters

นอกจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว ข้อมูลข่าวสารปลอมมากมายก็กำลังถูกส่งต่อกันเป็นวงกว้าง ระหว่างผู้คนทั่วโลกเช่นกัน ทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงในนามบีบีซี เรียลลิตี เช็ก (BBC Reality Check) รวบรวมตัวอย่างจำนวนหนึ่ง มาตรวจสอบและไขข้อเท็จจริงให้กระจ่าง

สารปลอมจาก บิล เกตส์

ข้อความยาวเหยียดที่อ้างว่ามาจาก บิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ มีเนื้อหาชักชวนให้ผู้คนมองการระบาดของไวรัสโคโรนาครั้งนี้ในแง่บวก เช่น มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เชื้อชาติ สีผิว หรือศาสนาใดก็มิอาจหลีกเลี่ยงโรคระบาดได้

สารข้างต้นถูกส่งต่อกันไปมาข้ามพรมแดนประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย กระทั่งสำนักข่าวทางการ ผู้คนที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือบนสังคมออนไลน์ หรือนางแบบระดับโลก เช่น นาโอมิ แคมป์เบล ก็ร่วมเผยแพร่ข้อความนี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บิล เกสต์ ตัวจริงเสียงจริงนั้นไม่เคยมีส่วนรู้เห็นกับข้อความนี้เลยแม้แต่น้อย

มีชายคนหนึ่งติดต่อบีบีซีมาและอ้างว่าว่าเป็นต้นทางของข้อความนี้ เขาชื่อ โมฮัมหมัด อาลี เป็นชาวกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาอ้างว่าโพสต์บทความข้างต้นบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 มี.ค. โดยไม่เคยนำ บิล เกสต์ มากล่าวอ้างแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบ บีบีซีไม่พบข้อความนี้บนเฟซบุ๊กที่เก่ากว่าของโมฮัมหมัด และวันที่ 22 มี.ค. คือ วันแรกที่ชื่อของ บิล เกสต์ ถูกนำไปอ้างถึง รายละเอียดแน่ชัดมากกว่านี้ยังไม่สามารถระบุได้

BBC

วิดีโอการบริจาคอาหารที่ชวนให้เข้าใจผิด

วิดีโอนี้แสดงให้เห็นห่ออาหารจำนวนมากถูกวางทิ้งไว้อย่างกระจัดกระจายบนถนน เพื่อให้คนที่ลำบากจากวิกฤตครั้งนี้มารับไป เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ยอดเข้าชมก็พุ่งสูงถึง 10 ล้านครั้ง

บางคนอ้างว่า วิดีโอนี้ถูกถ่ายในประเทศตุรกี แต่อีกหลายเสียงกลับบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิรักไม่ก็อินเดีย ผู้คนมากมายพากันชื่นใจว่าประเทศของตัวเองช่วยเหลือคนยากจนเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิดีโอดังกล่าวจะเป็นของจริง แต่มันกลับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นการบริจาคข้าวสารอาหารแห้งให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ไม่ใช่เพราะวิกฤตโรคโควิด-19

บีบีซีตรวจสอบข้อความบนแผ่นป้ายโฆษณาที่ปรากฎในคลิปแล้วพบว่าเป็นภาษาตุรกีเขียนว่า "ถูกมาก" และเมื่อเจาะลึกลงไปก็สามารถระบุได้ว่า คลิปสั้น ๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดสดกิจกรรมเมืองคอนยา ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2020

ต่อมา มูลนิธิการกุศลผู้จัดงานดังกล่าวออกมายืนยันเช่นกันว่า วิดีโอที่กลายเป็นกระแสข้างต้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาแต่อย่างใด

BBC

ข้อความปลอมจากรัฐบาลอังกฤษ

รูปภาพแสดงให้เห็นข้อความ SMS ในโทรศัพท์มือถือที่ทำทีว่าส่งมาจากรัฐบาล โดยขู่ปรับเงินจำนวน 3,550.73 ปอนด์ หรือประมาณ 140,000 บาท เพราะติดตามประชาชนแล้วพบว่าพวกเขาออกจากบ้านบ่อยครั้งเกินไป

ข้อเท็จจริง คือ รัฐบาลส่ง SMS เข้ามาทางโทรศัพท์มือถือของประชาชนจริงเพื่ออธิบายข้อบังคับใหม่ที่เพิ่งประกาศในสัปดาห์นี้ให้ทุกคนอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการออกไปในสถานที่ต่าง ๆ แต่ "บุคคลอื่นที่กล่าวอ้างว่ามาจากรัฐบาลอังกฤษคือตัวปลอม"

ทั้งนี้ บีบีซียังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่า ข้อความเก๊ข้างต้นถูกส่งมาจากแก๊งต้มตุ๋น หรือโดนตัดต่อด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้วส่งต่อกันมา

https://twitter.com/gmpolice/status/1242873557115457541?s=20

BBC

เฮลิคอปเตอร์พ่นยาฆ่าเชื้อโรค

ข่าวลือเรื่องนี้ยังคงวนเวียนอยู่ตลอดและแพร่ต่อไปในระดับนานาชาติอีกด้วย ข้อความดังกล่าวมาในหลากหลายรูปแบบผ่านทางแอปพลิเคชั่นติดต่อสื่อสารและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยเตือนให้ผู้คนหลบในอาคารตั้งแต่เวลา 11.30 น. เพราะจะมีเครื่องบินมาพ่นสเปรย์กำจัดไวรัสโคโรนาทางอากาศ

แต่ข้อเท็จจริง คือ ยังไม่มีหลักฐานใดชี้ว่าเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือกำลังจะเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

ข้อความลักษณะนี้ยังปรากฎในหลายประเทศนอกเหนือจากอังกฤษ เช่น เคนยา อิตาลี รัสเซีย และเนปาล ส่วนใหญ่จะส่งต่อกันผ่าน วอตส์แอปป์ (WhatsApp) แอปพลิเคชั่นสนทนาคล้าย ไลน์ (Line) ซึ่งยากต่อการแกะรอยหาต้นทาง

แม้อาจจะดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ผู้คนยังคงแชร์ข่าวปลอมนี้ต่อกันและหลงเชื่อด้วย เพราะส่วนใหญ่มักส่งมาจากคนที่น่าไว้วางใจ เช่น ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนสนิท เป็นต้น

BBC

ตำรวจในอิตาลีบังคับใช้อำนาจในช่วงปิดประเทศ

วิดีโอเผยให้เห็นวินาทีที่ตำรวจชาวอิตาลีจับกุมชายคนหนึ่งที่ผ่าฝืนข้อบังคับในมาตรการปิดประเทศ นอกจากนี้ คลิปดังกล่าวยังไปปรากฎในทวิตเตอร์ของชาวอินเดียซึ่งมีผู้เข้าชมรวมแล้วกว่า 750,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์จริงเกิดขึ้นที่ประเทศบราซิล และเป็นการจับกุมผู้ต้องหาในเมืองเซา เปาโล ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโคโรนา

หากสังเกตเครื่องแต่งกายของตำรวจในคลิป จะพบว่าเขาใส่เพียงเสื้อยืดเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นในเดือนมีนาคมที่ประเทศอิตาลีเลย

BBC

ภาพและคลิปเสียงจากโรงพยาบาลในสเปน

คลิปเสียงภาษาอาหรับบันทึกคำวิจารณ์ด้วยสภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลชื่อดังของนครเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ถูกกระจายเป็นวงกว้างในแอปพลิเคชั่นวอตส์แอปป์ พร้อมกับภาพถ่ายแสดงให้เห็นผู้ป่วยหลายคนนอนอยู่บนพื้น

สำนักข่าวอาหรับหลายแห่งนำภาพดังกล่าวไปประกอบบทความเพื่อบอกเล่าว่าโรงพยาบาลที่นั่นกำลังประสบปัญหาในการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้อย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลแห่งนี้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่สถานที่เดียวกันกับในภาพแต่อย่างใด

บีบีซีตรวจสอบสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนปลอกหมอนในภาพแล้วพบว่า สอดคล้องกับเตียงของโรงพยาบาลในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ภาพดังกล่าวเป็นเหตุการณ์จริงของผู้ป่วยโรควิด-19 โดยถูกเผยแพร่ครั้งแรกบนบัญชีทวิตเตอร์ของชาวสเปน

BBC

BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง