ทอท.ขยายมาตรการ อุ้มสายการบิน-ร้านค้า ถึงปี 66 หลังเจ๊งระนาวปิดกิจการเพียบ
1 ธ.ค. 2564 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงแนวโน้มการอุตสาหกรรมการบินของไทยว่า คาดว่าการฟื้นตัวการบินในไทยจะเลื่อนออกไปอีก 1 ปี จากเดิมปี 2565 เป็นปี 2566 เนื่องจากยังมีการระบาดโควิด-19 ต่อเนื่อง ทำให้ ทอท.ปรับลดประมาณการผู้โดยสารปี 2565 จาก 113 ล้านคน เหลือ 62 ล้านคน และในปี 2566 ปรับลดจาก 147 ล้านคน เหลือ 116 ล้านคน
นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ส่งผลให้ทอท.ต้องขยายมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการร้านค้าภายในสนามบินออกไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุด 31 มี.ค. 2565 เป็นสิ้นสุด 31 มี.ค. 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อและยังคงจัดส่งรายได้ให้กับ ทอท.ได้ต่อไป
นายนิตินัยกล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 ระบาดทำให้ผู้ประกอบการในสนามบินของ ทอท.ราว 33% หรือ 1 ใน 3 เจ๊งต้องปิดกิจการ โดยขณะนี้มีการยกเลิกสัญญา 900 สัญญา จากทั้งหมด 2,783 สัญญา หากไม่มีมาตรการพยุงครั้งนี้มาช่วยคาดว่าจะมีการยกเลิกสัญญาอีก 48%
ล่าสุด ทอท.มีจำนวนร้านค้าที่ยังเช่าพื้นที่อยู่เหลือเพียง 47.76% เท่านั้น ส่วนอีก 26.41% เป็นพื้นที่ที่ว่าง และอีก 26.84% เป็นพื้นที่ที่ผู้ประกอบการเจ๊งขอหยุดกิจการ ซึ่งมาตรการพยุงร้านค้าครั้งนี้จะช่วยให้ ทอท.มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่ากรณีที่ ทอท.ไม่ดำเนินการขยายมาตรการ อีก 3,037 ล้านบาท ในปีงบ 2565 และเพิ่มขึ้นอีก 6,171 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 ทำให้คาดการณ์ว่า ทอท.อาจจะใช้เงินกู้น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ตามวงเงินที่บอร์ด ทอท. อนุมัติไว้
นายนิตินัย กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนว่า ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางทางอากาศ เนื่องจากยังไม่มีรายงานผู้ป่วยหนัก รวมทั้งต้องรอดูมาตรการเปิดน่านฟ้าของรัฐบาลด้วย ส่วนปริมาณการเดินทางภายในประเทศนั้น ยอมรับว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายใน 3-4 เดือน ปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดระบาดแน่นอน
นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศนั้นช่วงปลาย พ.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นชัดเจน จาก 2 พันคน/สัปดาห์ เป็น 4 พันคน/สัปดาห์ คาดว่าจะเริ่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง เดือน ธ.ค. 64 ล่าสุดมีสายการบินจองสล็อตการทำการบินเพิ่มขึ้น 20%
ส่วนแผนการพัฒนา 3 สนามบินภูมิภาคที่รับโอนมาจากกรมท่าอากาศยาน ซึ่งได้แก่ กระบี่ บุรีรัมย์และอุดรธานีนั้น คาดว่าในปี 2568-2569 จะเร่งพัฒนาให้สนามบินอุดรธานีเป็นฮับการเดินทางทางอากาศจากภาคอีสานไทยไปยังประเทศลาว ส่วนบุรีรัมย์จะเป็นฮับภาคอีสานไทยไปยังประเทศกัมพูชา ส่วนกระบี่จะมีความล่าช้ากว่า