รีเซต

รฟม. เคาะ เม.ย. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ วงเงิน 1 แสนล้าน ตั้งเป้าเปิดให้บริการ มี.ค. 70

รฟม. เคาะ เม.ย. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ วงเงิน 1 แสนล้าน  ตั้งเป้าเปิดให้บริการ มี.ค. 70
ข่าวสด
24 กุมภาพันธ์ 2564 ( 15:41 )
59

รฟม. เคาะ เม.ย. เตรียมเปิดประมูล รถไฟฟ้าสีม่วง เตาปูน – ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ให้ทันก่อสร้างเดือน ธ.ค. ปีนี้ ตั้งเป้าเปิดให้บริการ มี.ค.

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งถึงความคืบหน้าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการ รถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือ รถไฟฟ้าม่วงใต้ วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงพื้นที่สำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวสายทางโครงการ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2563

รวมทั้งการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาคาดว่า จะเปิดประมูลได้ในเดือนเม.ย. 64 เพื่อให้สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในเดือน ธ.ค. 2564 โดย รฟม. มีแผนจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนภายในเดือนมีนาคม 2570

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทาง 23.6 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างยกระดับ 11 กิโลเมตร แนวเส้นทางของโครงการเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน (สถานียกระดับ) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล วิ่งข้ามคลองบางซื่อ

จากนั้นค่อยๆ ลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร สวนรมณีนาถ เข้าสู่ถนนจักรเพชร

ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยก มไหสวรรย์ จากนั้นเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกดาวคะนอง แยกบางปะแก้ว แยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่บริเวณครุใน มีสถานีรวมทั้งสิ้น 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี มีอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง และอาคารจอดรถไฟฟ้า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง