สธ.เปิดยอดวัคซีนโควิดสูงวัย 7จว.ทะลุ 70% ห่วง! เด็กเล็ก จี้พ่อแม่เร่งพาไปฉีด
เมื่อวันที่ 5 เมษายน พญ.สุมนี วัชระสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ฉีดวัคซีนสะสม 130.19 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 55.7 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 80.1 ของจำนวนประชากร เข็มที่ 2 อีก 50.3 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 72.5 และเข็มที่ 3 อีก 24.09 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 34.6 โดย สธ.มีการรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง 608 มารับเข็มกระตุ้นมากขึ้นก่อนสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ได้รับเข็มที่ 3 ร้อยละ 37.2 โดยจังหวัดที่อัตราฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มนี้สูงถึงร้อยละ 70 หรือตามเป้าหมาย คือ น่าน นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต มหาสารคาม ลำพูน และ ชัยนาท ส่วนที่ฉีดมากกว่าร้อยละ 60 เช่น เชียงราย แพร่ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และ ยโสธร
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับวัคซีนอายุ 5-11 ปี มีจำนวนกว่า 5 ล้านคน ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว ร้อยละ 45.7 เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว ร้อยละ 1.3 ซึ่งถือว่ายังน้อย โดยการระบาดของเชื้อโรควิด-19 โอมิครอน นั้น พบว่า มีรายงานติดเชื้อในเด็กอยู่ตลอด ดังนั้น ช่วงปิดเทอมนี้ ขอให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีวัคซีน 2 ชนิดที่ได้รับรองความปลอดภัยให้ฉีดเด็กเล็ก คือ วัคซีนเชื้อตาย คือ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และวัคซีน mRNA คือไฟเซอร์ ฝาสีส้ม อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะนำ 3 สูตร คือ ไฟเซอร์-ไฟเซอร์ ห่างกัน 8 สัปดาห์, เชื้อตาย-ไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์ และ เชื้อตาย 2 เข็ม ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์ ห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 4 สัปดาห์
“สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยังเป็นการติดเชื้อในผู้สูงอายุ ที่ไม่ค่อยออกนอกบ้าน ซึ่งยังพบรายงานการเสียชีวิตทุกวัน เป็นการติดเชื้อจากญาติ หรือผู้ที่ไปเยี่ยม ดังนั้น จะต้องรับวัคซีนแม้จะอยู่ในบ้าน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้ ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อจากเพื่อน ตลาด ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มสูงอายุเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ลดการเสียชีวิตลงได้ 31 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และการฉีดเพียง 2 เข็ม ลดการเสียชีวิตลงได้ 5 เท่า” พญ.สุมนี กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กล่าวถึงกรณีพบว่ากลุ่มเด็กติดเชื้อมากขึ้น ว่า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ช่วงอายุ 5-12 ปี เป็นวัยที่เข้าโรงเรียนแล้ว และมีกิจกรรมพบเจอกับเพื่อน จึงมีรายงานติดเชื้อเพิ่มเป็นระยะ กลุ่มนี้ฉีดวัคซีนได้ แต่พบฉีดเข็มที่ 1 ไม่ถึงร้อยละ 50 และเข็มที่ 2 ไม่ถึงร้อยละ 5 ทำให้ภูมิคุ้มกันยังน้อย อีกทั้งเชื้อมีการพัฒนาตลอด ในกลุ่มนี้ที่ติดเชื้อพบร้อยละ 60 มีโรคประจำตัว จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยากเน้นย้ำให้พ่อแม่พาไปรับวัคซีน
“ส่วนเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี เป็นกลุ่มที่ยังไม่สามารถรับวัคซีน ดังนั้นมาตรการส่วนบุคคลของพ่อแม่และผู้ดูแลเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งที่ฝากย้ำเตือนคือ ช่วงนี้เด็กปิดเทอม และมักมีกิจกรรมรวมกลุ่มในร้านเกม เป็นอีกสถานที่เสี่ยง เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด แออัด ระบบอากาศไหลเวียนไม่ดี จึงขอความร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กไปเล่น ขณะเดียวกัน ขอความร่วมมือผู้ประกอบการคำนึงความปลอดภัย เช่น ลดจำนวนเครื่อง จำกัดเวลาการเล่นของเด็ก เพื่อความลดความเสี่ยง” พญ.สุมนี กล่าวย้ำ