รีเซต

ไขปริศนา “ดาวพุ่งชนโลก” ต้นเหตุไดโนเสาร์สูญพันธุ์ อาจเป็นหินยักษ์จากดาวพฤหัสฯ

ไขปริศนา “ดาวพุ่งชนโลก” ต้นเหตุไดโนเสาร์สูญพันธุ์ อาจเป็นหินยักษ์จากดาวพฤหัสฯ
TNN ช่อง16
23 สิงหาคม 2567 ( 12:28 )
17

เรารับรู้กันว่า สิ่งที่ทำให้โลกต้องเผชิญการสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 5 เกิดจากดาวเคราะห์น้อย ชื่อ “ชิกซูลุบ” แต่สิ่งที่ยัง เป็นปริศนาคือต้นกำเนิดของมันมาจากไหน และทำไมนักวิทย์ฯ ถึงไม่พบเศษชิ้นส่วนของดาวเคราะห์ดวงนี้บนโลกเลย


อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นล่าสุด อาจไขปริศนาที่มา และต้นกำเนิดของดาวเคราะห์น้อยนี้ได้แล้ว 


---“ชิกซูลุบ” มาจากแถบดาวเคราะห์น้อย---


ผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลญจ์ พบว่า ดาวเคราะห์น้อยที่ล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ อาจก่อตัวขึ้นบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี 


พวกเขาค้นพบองค์ประกอบเคมีของแร่หายากที่ชื่อว่า “รูทีเนียม” ซึ่งคล้ายกับองค์ประกอบภายในของดาวเคราะห์น้อย ที่อยู่ระหว่างวงโคจรดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ด้วยการศึกษาตัวอย่างหินที่เก็บมาจากชั้นดินและหินที่เกิดขึ้นในช่วงยุคครีเทเชียสพาลิโอจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับชิ้นส่วนหินยักษ์จากอวกาศพุ่งชนโลกเมื่อประมาณ 66 ล้านปีที่แล้ว 


พวกเขาใช้เทคนิคใหม่ที่ทำลายพันธะเคมีทุกพันธะในตัวอย่างหิน ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์วัดระดับรูทีเนียมได้อย่างเฉพาะเจาะจง เมื่อได้ค่าระดับรูทีเนียมแล้ว นักวิจัยจึงได้นำผลดังกล่าว ไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อย และอุกกาบาตอื่น  ที่เก็บมาได้จากแอฟริกาใต้แคนาดา และรัสเซีย แล้วพบว่า ดาวเคราะห์น้อยชิกซูลุบ เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอนในบริเวณระบบสุริยะชั้นนอก


---หักล้างทฤษฎีดาวหางพุ่งชนโลก---


การค้นพบครั้งนี้ ยังเป็นการหักล้างทฤษฎีในปี 2021 ที่ชี้ว่า ชิ้นส่วนที่พุ่งชนโลก จนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ คือ ดาวหาง เพราะงานวิจัย ระบุว่า ในบรรดาวัตถุจากอวกาศที่ตกลงมาสู่โลกในช่วงเวลา 500 ล้านปีที่ผ่านมา มีเพียงดาวเคราะห์น้อยที่อุดมไปด้วยน้ำเท่านั้นที่สามารถทำลายล้างไดโนเสาร์ได้ 


ดาวเคราะห์ดวงอื่น  ที่ชนเข้ากับโลก มักเป็นดาวเคราะห์น้อย หรือ อุกกาบาตที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ ซึ่งมีความแห้งมากกว่า โดยดาวหางเป็นวัตถุที่โคจรใกล้  ดวงอาทิตย์ และส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำแข็งและฝุ่น 


---ถึงตัวหายไป แต่ร่องรอยทางเคมียังอยู่---


ชิกซูลุบ’ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9.7-14.5 กิโลเมตร หรือ ขนาดเทียบเท่าภูเขาเอเวอเรสต์ พุ่งเข้าหาโลกด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อวินาที ผลกระทบในครั้งนั้น ได้ปล่อยพลังงานเทียบเท่าแรงระเบิด TNT ขนาด 72 ล้านล้านตัน 


ถึงชิ้นส่วนอวกาศดังกล่าว จะมีขนาดใหญ่มหึมา แต่ชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยกลับไม่ถูกค้นพบ เป็นเพราะเมื่อพลังงานจลน์มหาศาลที่เกิดจากความเร็วและขนาดของมันถูกแปลงเป็นความร้อน เมื่อตกลงสู่พื้น มันก็จะกลายเป็นระเบิด และระเหยเป็นไอ 


การกระแทกในครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดกลุ่มก้อนฝุ่นขนาดใหญ่ ที่มีองค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อย แพร่กระจายไปทั่วโลก บดบังแสงอาทิตย์ และลดอุณหภูมิโลกเป็นเวลานานหลายปี 


แม้นักธรณีวิทยาจะไม่พบชิ้นส่วนของชิกซูลุบ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้ทิ้งร่องรอยทางเคมีไว้ทั่วโลก ทำให้ทีมวิจัยสามารถเก็บตัวอย่างทางเคมีเหล่านั้น มาศึกษาเพื่อติดตามต้นกำเนิดของดาวเคราะห์น้อยชิกซูลุบ 


---การค้นพบที่ส่งผลต่อนาคต---


ผลกระทบในระดับดาวเคราะห์น้อย ‘ชิกซูลุบ’ เกิดขึ้นได้ทุก  100-500 ล้านปี แม้โอกาสจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่โลกจะเผชิญเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันนี้ ในเวลาที่อาจเร็วกว่านั้น 


ดร.สตีเวน โกเดริส ศาสตราจารย์วิจัยด้านเคมี มหาวิทยาลัย Vrije Universiteit Brussel และเป็นผู้ร่วมเขียนวิจัย เผยว่า การเข้าใจเรื่องคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของวัตถุอวกาศเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญคิดค้นวิธีการปกป้องโลกของเรา จากการชนกับหินอวกาศขนาดใหญ่ได้ในอนาคต 


ขณะที่ ฟร็องซัว ทิสโซต์ ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ผู้ร่วมเขียนวิจัยนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษานี้ เป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งของความพยายามที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการโลก 


หากศึกษาประวัติศาสตร์โลกมากพอ เราก็จะมีบันทึกวิวัฒนาการโลกทั้งหมด และเราก็จะสามารถเริ่มตั้งคำถามอื่นต่อไปได้” ทิสโซต์ กล่าว 


แปล-เรียบเรียงพรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.livescience.com/space/asteroids/dinosaur-killing-asteroid-rare-rock-beyond-jupiter

https://scitechdaily.com/researchers-uncover-unexpected-origin-of-the-dinosaur-killing-asteroid/

https://www.nbcnews.com/science/space/dinosaur-killer-was-rare-asteroid-unusually-far-away-study-shows-rcna166947

https://edition.cnn.com/2024/08/16/science/chicxulub-asteroid-impact-dinosaur-extinction/index.html

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง