รีเซต

“ฟ้าฝน” แอปฯ พยากรณ์ ตัวช่วยเกษตรกรไทยฝ่าวิกฤตสภาพอากาศ

“ฟ้าฝน” แอปฯ พยากรณ์ ตัวช่วยเกษตรกรไทยฝ่าวิกฤตสภาพอากาศ
TNN ช่อง16
9 พฤษภาคม 2565 ( 00:46 )
198


สภาพอากาศถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการทำเกษตรกรรมในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก เพราะไม่สามารถคาดการณ์สภาพอากาศที่แม่นยำได้ บางครั้งการแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลเกษตรกรไม่ทันได้เตรียมตัวจนนำไปสู่ความเสียหายของพืชผลทางการเกษตกร นั่นหมายถึงจำนวนผลผลิตที่ลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด


แอปพลิเคชัน "ฟ้าฝน" จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากวิกฤตดังกล่าว ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยังเป็นเหมือนผู้ช่วยในการวางแผนเรื่องการเพาะปลูก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย


แอปพลิเคชัน "ฟ้าฝน"

 

 

ที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชัน "ฟ้าฝน"

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการค้าข้าว อธิบายสาเหตุของการพัฒนาแอปพลิเคชันฟ้าฝนว่า "เนื่องจากเรามีพื้นที่การผลิตข้าวประมาณ 60 กว่าล้านไร่ ถ้าเรามีแอปพลิเคชันตรงนี้ ให้ได้ศึกษาถึงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลผลิตก็จะเป็นประโยชน์ ว่าถึงเวลาแล้วนะที่เราจะตกกล้า ถึงเวลาแล้วนะที่เราจะต้องวางแผนการเก็บเกี่ยว มันเป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้วเราจะทราบถึงภูมิอากาศภายใน 3-7 วันหรือ 15 วันข้างหน้า มันจะเกิดอะไรขึ้น จะมีฝนไหม จะมีฝนทิ้งช่วงไหม จะมีพายุเข้าตอนไหน เราก็จะได้เตรียมการณ์ด้านการผลิตได้ ซึ่งอันนี้เป็นประโยชน์มาก"


ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดเผยว่า "ประเทศไทยมีเกษตรกรอยู่กว่า 8,000,000 ครัวเรือนมีคนทำงานอยู่ 12 -13 ล้านคนที่เป็นฟลูไทม์(ทำงานเต็มเวลา) ทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับสภาวะภูมิอากาศ ที่เป็นเรื่องของต้นน้ำ ต้องจัดการต้นทุนหรือวัตถุดิบที่ตัวเองเพาะปลูกไว้ หรือแม้แต่เรื่องของการขนส่ง ถ้าขนส่งช่วงที่ไม่เป็นฤดูกาลก็สูญเสียผลผลิตไป สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนทั้งหมด ซึ่งเรากำลังหาบุคคลคนหนึ่งที่สามารถจะให้ข้อมูลเหล่านั้นมาให้บริการ as a service(-aaS) ซึ่งเรียกว่า Data-as-service (DaaS) รวมถึงหาสตาร์ตอัปหรือคนที่เป็นคนทำเทคโนโลยีจัดหาให้บริการเหล่านี้ไปทำงานกับเราเพื่อให้บริการกับภาคประชาชน"

แอปพลิเคชันฟ้าฝนคืออะไร?

แอปพลิเคชันฟ้าฝน เกิดจากการรวบรวมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านสภาพภูมิอากาศ ในเขตเส้นศูนย์สูตรของภาคเอกชน ผสานกับความร่วมมือจากภาครัฐ ซึ่งความพิเศษมากกว่าการพยากรณ์อากาศทั่ว ๆ ไป เนื่องจากสามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ


โดย ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอส เวเธอร์ จำกัดและ บริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสภาพอากาศ พูดถึงความพิเศษของแอปพลิเคชันฟ้าฝนว่า "เกษตรกรที่มีแปลงเพาะปลูก ต้องการผลพยากรณ์อากาศสำหรับแปลงตนเอง เราก็ให้ผลพยากรณ์เป็นรายชั่วโมงล่วงหน้า 7 วัน เช่น ทั้งฝน ความเร็วทิศทางลม ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ การสังเกตฝน การสังเกตเมฆ เพราะเรามีข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำเลย ข้อมูลฝน ผลการพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงสำหรับแต่ละแปลง และผลการพยากรณ์ภูมิอากาศ"


หลักการทำงานของแอปพลิเคชันฟ้าฝน?

สำหรับความสามารถในการพยากรณ์อากาศ ถือว่าแอปพลิเคชันฟ้าฝนทำได้ค่อนข้างละเอียด เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยการนำข้อมูลจากดาวเทียมที่มีอยู่ทั่วโลกจำนวน 9 ดวง ซึ่งเป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร มาประมวลผลผ่านเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ ช่วยให้การคาดการณ์สภาพอากาศมีความแม่นยำสูง สามารถพยากรณ์อากาศในพื้นที่ระดับตารางกิโลเมตรได้


ผู้ใช้สามารถระบุตำแหน่งที่ต้องการทราบสภาพอากาศได้

 


 ผศ.ดร.ชินวัชร์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยี เล่าวิธีการทำงานของแอปพลิเคชันฟ้าฝนให้ฟังว่า "เรามีคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ในการรันโมเดลพยากรณ์อากาศ เป็นแบบจำลองหรือเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ ที่พยายามจำลองสิ่งที่เกิดขึ้น ตามธรรมชาติก็คือฟิสิกส์ ซึ่งความพิเศษของเราคือใช้การสังเกตจากดาวเทียมเข้ามาประมวลผล โดยที่ความเป็นเอกลักษณ์ของเราก็เกิดจากการที่เราพัฒนางานวิจัย ว่าทำอย่างไรที่จะใช้ข้อมูลจากดาวเทียมพวกนี้ รวมถึงวิธีการพยากรณ์อากาศที่จะทำอย่างไรที่ให้มารวมกันแล้วเกิดความแม่นยำและเกิดความละเอียดสูง"


เราพัฒนาขึ้นจากงานวิจัย เกิดขึ้นจากการทำข้อมูลที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านข้อมูล แล้วเขาพยายามที่จะต่อยอดข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ในมือ จากดาวเทียมทั้งหมด 9 ดวงหรือเครือข่ายทางด้านอากาศ มาแปลงเป็น as a service ซึ่งเรียกว่า Data as a service หรือการให้บริการกับภาครัฐและประชาชน เพื่อผลประโยชน์การพยากรณ์ทางด้านอากาศ เพื่อการเฝ้าระวัง หรือแม้แต่เพื่อการท่องเที่ยว"



เกษตรกรใช้แอปฯ ฟ้าฝนเพื่อทราบสภาพอากาศเป็นรายแปลงได้

แอปพลิเคชันฟ้าฝนนี้เป็นตัวช่วยทำให้เกษตรกรสามารถวาดระบุตำแหน่งพื้นที่ตามแปลงเพาะปลูก เพื่อพยากรณ์สภาพอากาศได้ด้วย รวมถึงระบุได้ว่าพื้นที่การเกษตรแต่ละแปลงที่จะใช้เพาะปลูก มีความเหมาะสมกับพืชชนิดใด ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้แม่นยำมากขึ้น ว่าในฤดูกาลใด ควรวางแผนปลูกพืชแบบใด จึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากที่สุด ส่งผลให้วิถีชีวิตของเกษตรกรไทยทุกคนดีขึ้น มีรายได้เพิ่ม และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกมากขึ้น


เช่น ชาวสวนยางที่ต้องออกไปกรีดยางในเวลากลางคืน เมื่อเกิดฝนตกจะทำให้น้ำยางเสียหาย ฉะนั้นการใช้ผลการพยากรณ์อากาศจากแอปพลิเคชันฟ้าฝน สำหรับแปลงสวนยางพารา จะส่งผลให้ชาวสวนยางสามารถวางแผนในการออกไปกรีดยางได้ดียิ่งขึ้น 


หรือในการทำเกษตรกรรม พบว่าประมาณ 80% เป็นเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเรื่องน้ำธรรมชาติและฝน การพยากรณ์ฝนที่ละเอียดสำหรับแปลงเพาะปลูก จะทำให้สามารถวางแผนใช้น้ำ ซึ่งมีอยู่น้อยอยู่แล้วได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงเรื่องการฉีดยาฆ่าแมลง หรือฉีดฮอร์โมนต่าง ๆ ซึ่งการฉีดแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หากเกิดฝนตกชะล้างยาออกไปหลังฉีด จะส่งให้เกิดความเสียหายได้ การใช้แอปพลิเคชันฟ้าฝนจึงถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่จะลดความเสียหายลงได้


พื้นที่เพาะปลูกที่เกษตรกรสามารถวาดพื้นที่แปลงเพื่อทราบสภาพอากาศได้

 



รายละเอียดการเพาะปลูก-เก็บเกี่ยว ในแต่ละแปลง

 


ความสามารถในการพยากรณ์อากาศไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเกษตร

นอกจากเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรแล้ว แอปพลิเคชันฟ้าฝน ยังสามารถระบุพิกัด ระบุตำแหน่งที่ต้องการให้พยากรณ์อากาศได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ทำงานหรือสถานที่ที่เรากำลังเดินทางไป ซึ่งสามารถตั้งค่าได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน โดย ผศ.ดร.ชินวัชร์ สาธิตการใช้แอปฯ พร้อมอธิบายการใช้งานว่า 


"วิธีการใช้แอป ฯ ฟ้าฝนจะมีส่วนตรวจสอบว่าเราอยู่เขตไหน มีการบอกค่าอุณหภูมิต่ำสุด - สูงสุด สภาพอากาศปัจจุบันเป็นอย่างไร มีแถบแสดงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น - พระอาทิตย์ตก มีความเร็วทิศทางลม ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ รวมถึงมีแถบการพยากรณ์อากาศรายชั่วโมงล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และพยากรณ์อากาศรายวันล่วงหน้า 7 วันโดยที่เราสามารถเพิ่มสถานที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอหรือเขตที่เราต้องการ หรือถ้าใครใช้เป็นสมัครสมาชิกเป็นแบบฟ้าฝนพลัส ก็สามารถที่จะเพิ่มพิกัดตำแหน่งที่ต้องการได้ หรือเพิ่มแปลงเกษตรที่ต้องการได้สำหรับท่านที่ใช้ฟ้าฝนแบบฟาร์ม"


ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟ้าฝนแล้วกว่า 150,000 คน และมีจำนวนใช้งานกว่า 5 ล้านครั้งต่อวัน โดยแอปพลิเคชันฟ้าฝน สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และแอนดรอยด์  ซึ่งในอนาคตแอปพลิเคชันฟ้าฝน จะถูกพัฒนาให้สามารถพยากรณ์อากาศได้ในรูปแบบของการระบุพื้นที่พิกัด และทำใ้ห้เกิดการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง