ตุรกีเตรียมเพิ่ม 'ออกซิเจน' ก้นทะเลมาร์มารา สยบปัญหา 'มูกทะเล'
อิสตันบูล, 22 มิ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (21 มิ.ย.) มูรัต คูรุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและความเป็นเมืองของตุรกี เปิดเผยว่าตุรกีเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ที่มุ่งเพิ่มระดับออกซิเจนในก้นทะเลมาร์มารา โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าแก้ปัญหามูกทะเล หรือกลุ่มของอินทรียวัตถุคล้ายเมือกหรือวุ้นเหนียวที่พบในทะเล
"เราวางแผนที่จะเพิ่มออกซิเจนละลายในน้ำ (dissolved oxygen) ที่ก้นทะเลลึกด้วยอุปกรณ์จ่ายออกซิเจนเทคโนโลยีขั้นสูง" คูรุมเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ ทั้งเสริมว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกติดตั้งที่ระดับความลึก 30 เมตร ตามจุดต่างๆ 5 จุด ในทะเลมาร์มารา ในวันอังคาร (22 มิ.ย.)
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ทางการตุรกีได้เริ่มโครงการทำความสะอาดมูกทะเลที่กระจายตัวปกคลุมผิวน้ำหลายแห่งของทะเลมาร์มารา ซึ่งเป็นทะเลที่อยู่ภายในแผ่นดิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรมากกว่า 20 ล้านคน ทั้งยังเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง
นอกเหนือจากนั้น มูกทะเลยังคงกระจายตัวปกคลุมผิวน้ำบางส่วนของทะเลอีเจียนและทะเลดำ รวมถึงคุกคามระบบนิเวศในองค์รวม