คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วิกฤตโควิด-19 กับ ความผิดพลาดที่อินเดีย
คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วิกฤตโควิด-19 กับ ความผิดพลาดที่อินเดีย
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของอินเดียเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ยอดติดเชื้อรายวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สูงถึง 16,667 ราย เป็นยอดเพิ่มรายวันที่สูงที่สุดของโลกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน สูงกว่าสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป
ยอดสะสมของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของอินเดียทะลุเกิน 500,000 คนไปแล้ว ส่งผลให้กลายเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก
อันดับที่ไม่ควรภาคภูมิใจแต่อย่างใดทั้งสิ้น
จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่เพียงเพิ่มมากขึ้น แต่ยังเพิ่มเร็วขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาโดยไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง จำนวนเครื่องช่วยหายใจและเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลลดน้อยลงทุกที การทดสอบหาผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับต่ำ การแกะรอยสืบสวนโรคแทบไม่มีให้เห็น
ทั้งหมดนั้นเอื้อให้การระบาดสามารถแพร่ออกไปเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น เข้าถึงพื้นที่ชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ
กระนั้น เมื่อภาวะล็อกดาวน์ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดลงหนักหนาสาหัสต่อหน้าต่อตา รัฐบาลก็ตัดสินใจเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายใหม่อีกครั้ง
การล็อกดาวน์ในอินเดียกินเวลาเพียง 75 วัน รัฐบาลอินเดียก็ประกาศยกเลิกเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางเศรษฐกิจ
จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที รัฐบาลอินเดียกำลังนำพาทั้งประเทศดุ่มเดินเข้าหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในห้วงเวลาที่มันกำลังทะยานสู่จุดพีคพอดิบพอดี
สองเมืองใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดของอินเดียอย่าง นิวเดลี กับมุมไบ คือภาพสะท้อนของสถานการณ์วิกฤตโควิดที่ดีที่สุด
ทั้งสองเมืองนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมกันแล้วสูงถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ
โรงพยาบาลเต็ม เต็มถึงขนาดผู้ป่วยวิกฤตจากอาการอื่นๆ จำนวนหนึ่งถูกปฏิเสธ จนบางกรณีกลายเป็นโศกนาฏกรรมเศร้าสลด
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี่เอง ที่ นอยดา ชานกรุงนิวเดลี ผู้หญิงท้องแก่อายุครรภ์ 8 เดือน ถูกปฏิเสธจาก 6 โรงพยาบาล ในช่วงเวลา 13 ชั่วโมง ที่เธอและเครือญาติไล่ล่าหาที่เยียวยา
ลงเอยด้วยการเสียชีวิตคารถพยาบาล!
ที่มุมไบ ผู้ป่วยโควิด-19 วัย 68 เสียชีวิตหลังจากเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลไม่สามารถจัดหาเครื่องช่วยหายใจให้กับเธอได้
ท่ามกลางการอ้อนวอนด้วยน้ำตาของญาติๆ ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วันเต็ม
เรื่องราวสลดหดหู่ทำนองนี้ ไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง มีแต่จะพอกพูนเพิ่มมากขึ้นตามการขยายวงออกไปของการแพร่ระบาด
มานิษ สีโสดา รองมุขมนตรีแห่งรัฐเดลี บอกให้ทำใจเมื่อไม่นานมานี้ว่า เฉพาะที่รัฐเดลีเพียงรัฐเดียว คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 550,000 คน ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ในขณะที่การคาดการณ์สถานการณ์โดยรวมของประเทศนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า พอถึงเวลานั้นคาดว่ายอดติดเชื้อสะสมของอินเดียจะทะลุผ่านหลักล้านคนไปแล้ว
ที่น่าสนใจก็คือ สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาแล้ว ไม่มีใครประหลาดใจกับการคาดการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้แต่อย่างใด
อูมเมน จอห์น อดีตผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำงานกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งในเวลานี้ทำหน้าที่เป็นนักวิจัยอาวุโสประจำสถาบันจอร์จ ศูนย์วิจัยทางการแพทย์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย บอกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อินเดีย เปิดเปลือยให้เห็นสภาพ “เน่าเฟะ” ของระบบสาธารณสุขอินเดียที่มีปัญหามาตลอด
ปัญหาใหญ่น้อยที่ “ถูกกวาดเก็บไว้ใต้พรม” ตลอดระยะเวลาหลายปีดีดักที่ผ่านมา
ระบบสาธารณสุขของอินเดียอยู่ในสภาพย่ำแย่มานานแล้ว เพราะงบประมาณอุดหนุนที่จำกัดจำเขี่ยในขณะที่ความรับผิดชอบมหาศาล
ในแต่ละปี งบประมาณด้านสาธารณสุขของอินเดียถูกจัดสรรมาให้ไม่ถึง 1.3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
นั่นหมายความว่า ความขาดแคลนในระบบมีอยู่แม้ในยามปกติ และยิ่งเลวร้ายลงมากยิ่งขึ้นในยามเกิดการแพร่ระบาดระดับวิกฤตเช่นในเวลานี้
หายนะทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุขของอินเดีย แสดงออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2017 เด็กแรกเกิดกว่า 60 ราย เสียชีวิตลงในช่วงระยะเวลาเพียง 5 วัน ที่โรงพยาบาลของรัฐบาลในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย เหตุผลเป็นเพราะโรงพยาบาลแห่งนั้น เกิดขาดแคลนออกซิเจนขึ้นมากะทันหัน
ปีเดียวกัน ปรากฏการณ์ทำนองเดียวกัน เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลของรัฐอีกแหงในรัฐมหาราษฎร์ ที่ขาดแคลนทั้งออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ
คราวนี้เด็กจำนวนมากถึง 180 คน เสียชีวิต
ที่น่าเศร้าก็คือ นอกจากจะเกิดความกราดเกรี้ยวเอากับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไปเป็นครั้งคราวแล้ว
ทุกคนก็ลืม หรือไม่ก็เลิกสนใจระบบสาธารณสุขของประเทศโดยรวมไปในเวลาไม่ช้าไม่นาน
แม้รัฐบาลจะให้ความสนใจขึ้นมาบ้าง แนวทางในการแก้ปัญหาก็ไม่ใช่การเพิ่มงบประมาณ จัดการปฏิรูประบบสาธารณสุข สร้างระบบสาธารณสุขมูลฐานอย่างที่ควรทำแต่อย่างใด
ในระหว่างการนำเสนอร่างกฎหมายงบประมาณของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี้ เมื่อต้นปีนี้ สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือพยายามดึงเอาเอกชนเข้ามาทำโครงการ ออกแบบ, ก่อสร้างและบริหารจัดการโรงพยาบาลและวิทยาลัยการแพทย์ใน 733 อำเภอ ทั่วประเทศ เป็นการพึ่งพาเงินทุนจากภาคเอกชนในการจัดหาบริการทางด้านสาธารณสุขให้กับประชากร แบบเดียวกับที่เคยเป็นมาเนิ่นนานในอินเดีย
ทีมวิจัยด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลันปรินซ์ตัน ร่วมกับศูนย์เพื่อพลวัตเชิงนโยบาย, เศรษฐกิจ และโรค (ซีดีดีอีพี) เคยตรวจสอบพบว่าอินเดียมีโรงพยาบาลรวม 69,265 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นกิจการที่เจ้าของเป็นเอกชนมากถึงกว่า 43,000 แห่ง เหลือเป็นโรงพยาบาลของรัฐเพียงไม่ถึง 26,000 แห่ง เท่านั้นเอง
รัฐบาลอินเดียประเมินว่า ภาคอุตสาหกรรมโรงพยาบาลในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นจนมีมูลค่าสูงถึง 372,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2022 ที่จะถึงนี้
กิจการโรงพยาบาลเอกชนในอินเดียเบ่งบานมากเท่าใด ยิ่งสะท้อนให้เห็นความย่ำแย่ในโรงพยาบาลของรัฐมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ในทางหนึ่ง สภาพบูมของโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของประชาชนทั่วไป แพงขึ้นมากมายมหาศาล เพราะจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ในโรงพยาบาลเอกชน
ในอีกทางหนึ่ง ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งก็แทบถูกตัดขาดจากบริการด้านสาธารณสุขโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีเงินเพียงพอต่อการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้ง
ในขณะเดียวกัน การมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ทำให้อินเดียขาดโรงพยาลขนาดเล็ก สำหรับชุมชน ซึ่งสามารถกลายเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง หรือดูแลด้านสาธารณสุขได้ในยามเกิดการแพร่ระบาดอย่างเช่นในเวลานี้
วิกฤตโควิด-19 คราวนี้ สะท้อนปัญหาระบบสาธารณสุขในอินเดียได้ถึงแก่น เมื่อระบบโรงพยาบาลเอกชนเป็นกังวลต่อธุรกิจของตนเองมากกว่าการให้ความช่วยเหลือต่อรัฐบาลในการรับมือกับการแพร่ระบาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ 2 แห่งในมุมไบ ต้องปิดกิจการชั่วคราวมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
เพราะบุคลากรจำนวนมากติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วย!
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักธุรกิจหนุ่มชาวเมืองมุมไบรายหนึ่ง ใช้เวลา 1 วันเต็ม โทรศัพท์หาโรงพยาบาลที่จะรับตัวคุณย่าวัย 77 ของตนเข้ารับการรักษาอาการที่เชื่อว่าเป็นการติดเชื้อโควิด-19 จากสภาพการหายใจลำบากและไอแห้งๆ
คำตอบที่ได้รับเหมือนกันจากทุกแห่งก็คือ ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยรายนี้
สุดท้าย โรงพยาบาลเอกชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านจูฮู ยินดีรับผู้ป่วยรายนี้เข้ารักษา แต่สภาพของโรงพยาบาลแย่มากกว่าที่ทุกคนคิด ไม่มีแพทย์ประจำ, พยาบาลไม่ได้รับการฝึกมาเพียงพอ ยุ่งยากเก้ๆ กังๆ แม้กระทั่งการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย
ผู้ป่วยเสียชีวิตในอีก 24 ชั่วโมงต่อมา ผลการชันสูตรยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 จริงๆ
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทางการมุมไบประกาศยึด 80 เปอร์เซ็นต์ของเตียงผู้ป่วยไอซียูของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดเข้ามาอยู่ในการควบคุมของทางการ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา!
สถิติหลายอย่างสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ระดับวิกฤตที่รัฐบาลอินเดียยังหาทางออกไม่เจอ โดยเฉพาะในจุดที่เป็น “ฮอตสปอต” อย่าง มุมไบและเดลี ชี้ให้เห็นภาวะยากลำบากแสนสาหัสอย่างชัดเจน
ณ วันที่ 14 มิถุนายน มุมไบ มียอดผู้ป่วยสะสมสูงถึง 55,357 ราย แต่มีเตียงผู้ป่วยวิกฤตในไอซียูหลงเหลือเพียง 17 เตียง กับ เครื่องช่วยหายใจอีกแค่ 12 เครื่อง ให้ใช้เท่านั้น
ที่เดลี ซึ่งมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 41,000 ราย มีเครื่องช่วยหายใจใช้งานได้เพียง 26 เครื่อง กับเตียงไอซียูอีกแค่ 62 เตียง ให้ใช้ได้เท่านั้น
ทั่วอินเดีย มีการตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้ออยู่ในสัดส่วนเพียง 4.66 คนในทุกๆ 1,000 คน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างเช่น รัสเซีย ซึ่งอยู่ที่ 111.84/1,000 คน หรืออิตาลี ซึ่งอยู่ที่ 79.91/1,000 คน เป็นต้น
แพทย์หญิงรายหนึ่งในนิวเดลีระบุว่า ตัวอย่างที่เก็บมากองกันอยู่เต็มในห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อ รอเวลาที่เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์สักคนจะหยิบไปผ่านกระบวนการตรวจสอบยืนยัน ซึ่งล่าช้าอย่างยิ่ง และยิ่งทำให้การแพร่ระบาดรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เพราะผู้ที่รอผลการตรวจยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ไม่มีการกักตัวแต่อย่างใดทั้งสิ้น
แพทย์หญิงรายนี้ระบุว่า ถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระยะเวลาในการรอผลตรวจหาเชื้อของแต่ละคน ยืดยาวออกไปเป็น 10 วันแล้ว
นักวิชาการอย่าง อูมเมน คูเรียน จากมูลนิธิออปเซอร์เวอร์ รีเสิร์ช องค์กรวิชาการอิสระในนิวเดลี เชื่อว่าเหตุผลอย่างหนึ่งที่รัฐบาลอินเดียตรวจหาเชื้อไม่มากพอ อาจเป็นเพราะต้องการควบคุมไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก และเพื่อมุ่งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดไปกับคนติดเชื้อที่แสดงอาการหนักจริงๆ เท่านั้น
แต่ คูเรียนบอกว่า นั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงมากยิ่งขึ้นในไม่ช้าไม่นาน
การทดสอบหาเชื้อที่จำกัดมาก ทำให้ยากที่จะหาอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่แท้จริงได้
ข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ การเสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินเดียอยู่ในอัตราต่ำ ต่ำกว่าในอังกฤษ สเปน หรืออิตาลีมาก
คูเรียนเชื่อว่า สาเหตุสำคัญนั้นเป็นเพราะมีหลายคนมากที่เสียชีวิตไปโดยไม่ได้รับการตรวจสอบยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่ถูกนับรวมเข้าไว้ในจำนวนผู้ตายสะสมจากโควิด-19 ในอินเดีย
คูเรียนชี้ว่า ในอีกไม่ช้าไม่นาน ระบบสาธารณสุขของอินเดียจะถูกทดสอบอย่างเข้มข้นที่สุดในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งเป็นหน้ามรสุมและเป็นห้วงเวลาของการแพร่ระบาดของโรคอย่างมาลาเรียและไข้เลือดออก ซึ่งแต่ละฤดูทั่วอินเดียจะมีผู้ป่วยสูงมาก
มาลาเรียสูงกว่า 334,000 ราย เมื่อปี 2019 ส่วนไข้เลือดออกมีมากถึง 136,000 ราย
บวกตัวเลขเหล่านั้นเข้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ได้แต่ภาวนา
ขอให้สถานการณ์โควิด-19 ในอินเดียผ่านพ้นจุดพีคสูงสุดไปแล้ว
หากไปพีคในช่วงเวลานั้นขึ้นมา ก็หายนะมาเยือนดีๆ นี่เอง