รีเซต

พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่สุราษฎร์ธานี พร้อมรับมืออุทกภัยภาคใต้

พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่สุราษฎร์ธานี พร้อมรับมืออุทกภัยภาคใต้
มติชน
17 ตุลาคม 2565 ( 17:33 )
87

เมื่อเช้าวันที่ 17 ตุลาคม ที่ห้องประชุมเมืองคนดี ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และความคืบหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและบรรยายสรุปการดำเนินงาน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการแก้มลิงสระบัว (อ่างเก็บน้ำทุ่งกระจูด) ตามแผนงานด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อแก้ไขปัญหาบรรเทาอุทกภัยในช่วงน้ำหลาก และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้กับพื้นที่ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างแก้มลิง ขุดลอกพื้นที่สาธารณะ ประมาณ 750 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 7,000,000 ลบ.ม. พร้อมก่อสร้างถนนคันดิน ประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ทางระบายน้ำ (WASTE WAY) 1 แห่ง และท่อลอดถนนอีก 3 แห่ง แล้วเสร็จเมื่อปี 2563 ปัจจุบันสามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร อาทิ สวนปาล์ม สวนยาง สวนผลไม้ ในพื้นที่ ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน และ ต.ท่าเรือ อ.บ้านนาเดิม ประมาณ 2,979 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 600 ครัวเรือน รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เสริมรายได้พิเศษให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 21 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 3,544 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ กรมชลประทานได้เตรียมรับมือฤดูน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี’65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกัก ตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ไว้ประจำจุดเสี่ยง พร้อมใช้งานได้ทันที ตลอดจนร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำในประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการวางแผนและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่ภาคใต้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน โดยให้เร่งสำรวจจุดที่เสี่ยงน้ำท่วม สิ่งกีดขวางทางน้ำ และรายงานต่อคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อกำหนดมาตรการรองรับต่อไป รวมทั้งทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบเป็นการล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ได้กำชับให้กรมชลประทานเร่งสำรวจและซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ และสถานีสูบน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ตลอดจนวางแผนเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งหน้าด้วย


 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง