รีเซต

นักวิชาการเชื่อ "ค้าปลีกแข่งดุ" หลังปิดดีล "โลตัส"

นักวิชาการเชื่อ "ค้าปลีกแข่งดุ" หลังปิดดีล "โลตัส"
TNN ช่อง16
15 กันยายน 2563 ( 15:24 )
206
นักวิชาการเชื่อ "ค้าปลีกแข่งดุ" หลังปิดดีล "โลตัส"

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การค้าปลีกของไทย แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ โมเดิลเทรดอยู่ที่ 60% และการค้าแบบดั้งเดิม เช่น หาบเร่ แผงลอย และร้านในตลาดราว 40% โดยทิศทางการค้าปลีก โมเดิลเทรดเริ่มมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แต่ทั้งหมดนี้ เห็นถึงการปรับตัว ที่การค้าแบบดั้งเดิมผสมผสานอยู่กับโมเดิลเทรดได้อย่างลงตัว 

ธุรกิจค้าปลีก ยังต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้การค้าออนไลน์ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้ค้า และผู้ซื้อ ปรับพฤติกรรมไปทิศทางดังกล่าวมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมนี้ ปรับตัวอย่างก้าวกระโดด จนทำให้กลุ่มทุนจากอังกฤษ ตัดสินใจขายโลตัส คืนให้คนไทย และผู้ที่เสนอราคาสูงสุด คือเจ้าของเดิมอย่างซีพี 

และหากเจาะไปดูการแข่งขันในธุรกิจโมเดิลเทรด โลตัส ยังมีคู่แข็งสำคัญ อย่างบิ๊กซี ที่ซื้อกิจการคาร์ฟูร์ จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการลดผู้เล่นในตลาดนี้ จาก 3 ราย เหลือ 2 ราย แม้กลุ่มซีพี จะมีกิจการแม็คโคร และเซเว่นอีเลฟเว่น ในมือ แต่การดำเนินธุรกิจแยกตลาดอย่างชัดเจน แม็คโคร เน้นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และเซ่เว่นฯ เจาะกลุ่มสะดวกซื้อ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีคู่แข่งอย่างชัดเจน จึงเชื่อว่า ซีพี ไม่สามารถผูกขาดตลาดได้ ไม่เพียงเท่านั้น ทุกบริษัทในเครือซีพี อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการกำกับดูแลด้านความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าไม่มีการกดราคาคู่ค้า และซัพพราย ต่างๆ 

ตรงกันข้าม ในอนาคต ซีพี อาจมีวิธีการบริหารจัดการ ต้นทุนในการกระจายสินค้า ทำให้ต้นทุนการดำเนินการลดลง ราคาสินค้าอาจถึงมือผู้บริโภคในราคาที่ถูกลง ทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกรุนแรงมากขึ้น แต่เชื่อว่าทั้งหมดเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค 


สำหรับ เทสโก้ โลตัส ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เดิมใช้ชื่อว่า โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (Lotus Supercenter) โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในนามของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด ก่อนที่เผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง และขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับกลุ่มเทสโก้ของอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2541 

และ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 กลุ่มทุนไทย ทั้งซีพี เซ็นทรัล และ ไทยเบฟฯ ยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นกลับเป็นของคนไทย โดยซีพี ยื่นข้อเสนอสูงสุดมูลค่า 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 338,445 ล้านบาท เป็นผู้ชนะในการประมูล ดูแลกิจการโลตัส ไทยและมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ ดีลนี้ ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า  


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง