รีเซต

ธุรกิจวอนรัฐดึงเอกชน ผนึกทีมเปิดปท. คุมปฎิบัติตามแผนปลอดภัย ส.แอลกอฮอล์ไทย แนะปล่อยต่างชาติดื่มกินได้

ธุรกิจวอนรัฐดึงเอกชน ผนึกทีมเปิดปท. คุมปฎิบัติตามแผนปลอดภัย ส.แอลกอฮอล์ไทย แนะปล่อยต่างชาติดื่มกินได้
มติชน
20 กันยายน 2564 ( 16:25 )
40
ธุรกิจวอนรัฐดึงเอกชน ผนึกทีมเปิดปท. คุมปฎิบัติตามแผนปลอดภัย ส.แอลกอฮอล์ไทย แนะปล่อยต่างชาติดื่มกินได้

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เปิดเผยถึงแผนการเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในประเทศไทย ที่มีจำนวนการติดเชื้อและการเสียชีวิตลดลง ขณะเดียวกันภาพรวมของเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออกเริ่มมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสัญญาณบวกที่ดี ซึ่งเราเองก็ได้เห็นสถานการณ์จากต่างประเทศในการจัดการเกี่ยวกับโควิด19 ที่ทำให้มีแนวโน้มเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด19 ลดลงและไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเช่นเดียวกัน โดยที่ในต่างประเทศหลายๆประเทศได้มีการเปิดประเทศกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับโควิด19 คือมันไม่มีทางหมดไปจากโลกนี้ แต่ต้องปรับตัวที่จะต้องอยู่กับโควิด19 ได้อย่างปลอดภัย เสมือนหนึ่งว่าเป็นโรคประจำถิ่นหรือประจำฤดูกาล

 

 

นายธนากร กล่าวต่อว่า รัฐบาลเองก็ตระหนักในการบริหารจัดการโควิด19 ควบคู่กับการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ โดยได้มีการกำหนดแผนการเปิดประเทศเพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งจากการท่องเที่ยวนอกเหนือจากการสร้างรายได้จากภาคการส่งออก เพราะการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ มีส่วนสนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมโรงแรมพักภัตตาคารร้านอาหาร สถานบันเทิง ด้านแรงงาน ด้านการบริการต่างๆ เป็นต้น

 

 


ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการโควิด19 คือ วัคซีน ขณะนี้แผนการจัดหาและการฉีดวัคซีนของรัฐบาล เริ่มมีความชัดเจนและเป็นไปตามแผนงานระดับหนึ่งแล้วหากสังเกตจะเห็นว่า แผนการเปิดประเทศของรัฐบาลเริ่มช่วงไตรมาสที่สี่ ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายปี 2564 และเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลของการท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น รวมถึงการได้มีการจับจ่ายใช้สอยอันเป็นการก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ในระหว่างที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอีกด้วย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวนั้นมีทั้งการท่องเที่ยวแบบกลางวันและกลางคืน ซึ่งจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสังสรรค์รื่นเริงและการบันเทิง รวมถึงการกินการดื่มที่คู่กับอาหาร (Food paring) ทั้งในร้านอาหาร สถานบันเทิงและในโรงแรม

 

 

นายธนากร กล่าวว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมาของการแพร่ระบาดของโควิด19 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ร้านอาหาร สถานบันเทิง และโรงแรม ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีการหยุดและปิดกิจการเป็นจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบต่อพนักงานลูกจ้าง นักดนตรี ศิลปิน ดารา พ่อครัว เด็กเสริฟ รวมถึงครอบครัวของเขา ดังนั้น แผนการเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้ ผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าเหมาะสม แต่ต้องมีความชัดเจนจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางของการที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยต้องให้ความชัดเจนในแต่ละพื้นที่ที่ได้กำหนดไว้ ควรมีมาตรฐานเดียวกันถ้าเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลหรือ ศบค. ได้กำหนดไว้ เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เพราะที่ผ่านมาการออกประกาศในแต่ละจังหวัดที่เป็นพื้นที่เหมือนกัน แต่มีการประกาศกำหนดไม่เหมือนกัน สร้างความสับสนวุ่นวายและเป็นอุปสรรค สุดท้ายไม่เป็นไปตามแผนของรัฐบาลที่คาดไว้และไม่คุ้มค่ากับการที่ได้มีการวางแผนเปิดประเทศ

 

 

 

“การเปิดประเทศในครั้งนี้ ขอให้รัฐบาลหรือ ศบค. มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยขอให้รับฟังหรือได้ให้ตัวแทนภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการประชุมเพื่อร่วมกันกำหนดวิธีการและแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นไปได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง ภายใต้หลักการของการป้องกัน ควบคุม ปลอดภัยจากโควิด19 และเชื่อว่าการเปิดประเทศในครั้งนี้ ถ้าได้มีการทำงานร่วมกันจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งการควบคุมป้องกันปลอดภัยจากโควิด และร่วมกันช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเพื่อกลับมาโดยเร็ว เราต้องใช้จุดแข็งของการเป็นประเทศไทยต่อสายตาต่างชาติและนักท่องเที่ยว ที่ได้จัดลำดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวในลำดับต้นๆ ของโลก” นายธนากร กล่าว

 

 

 

นายธนากร กล่าวว่า ทั้งนี้ อย่าได้มองว่าธุรกิจสถานบันเทิงหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้ก่อปัญหา เพราะผู้ประกอบการเองก็ตระหนักถึงอันตรายเกี่ยวกับโรคโควิด19 นี้ และไม่ต้องการที่จะเป็นสาเหตุของแพร่ระบาด และต้องการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน โดยผู้ประกอบการเองก็มีมาตรการและแนวทางในการป้องกัน ควบคุมปลอดภัยจากโควิด19 นี้ อาทิ การควบคุมป้องกัน ต่อพนักงานผู้ให้บริการ และกับผู้เข้ามาใช้บริการ ตามมาตรการของสาธารณสุข คือ DMHTT รวมถึงการจัดให้พนักงานผู้ให้บริการจะต้องมีการฉีดวัคซีนแล้วอีกด้วย จึงขอให้รัฐบาลได้พิจารณามาตรการการเยียวยาและมาตรการการฟื้นฟู โดยให้มองในมิติของการเยียวยากับผู้ประกอบการและพนักงานลูกจ้าง ส่วนของการฟื้นฟูนั้นคงต้องขอความช่วยเหลือในแหล่งเงินทุนและพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการทางภาษี อันเนื่องมาจากการขาดทุนที่ต้องถูกปิดกิจการและไม่สามารถสร้างรายได้ใดๆ เลย