รีเซต

นักปรัชญาจากสหรัฐฯ ไอเดียเจ๋ง ตั้งกล้องพันปีแห่งเมืองทูซอน บันทึกการเปลี่ยนแปลงเมืองเมื่อเวลาผ่านไปนับสหัสวรรษ

นักปรัชญาจากสหรัฐฯ ไอเดียเจ๋ง ตั้งกล้องพันปีแห่งเมืองทูซอน บันทึกการเปลี่ยนแปลงเมืองเมื่อเวลาผ่านไปนับสหัสวรรษ
TNN ช่อง16
13 มกราคม 2567 ( 02:19 )
60

สถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปนับ 1,000 ปีมันจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ผู้คนในปี ค.ศ. 3023 จะมองเห็นทิวทัศน์แตกต่างไปจากที่เรามองอยู่นี้มากหรือไม่ ? นี่คือแนวคิดที่ทำให้โจนาธาน คีทส์ (Jonathan Keats) นักปรัชญาเชิงทดลองจากวิทยาลัยวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยแอริโซนา สร้างโปรเจ็กต์วิทยาศาสตร์ - ศิลปะ ที่ชื่อว่า กล้องสหัสวรรษ หรือ “มิลเลนเนียมคาเมรา (Millennium Camera)” ซึ่งจะตั้งอยู่บนเนินเขาทูมาม็อค (Tumamoc) เมืองทูซอน (Tucson) และเปิดรับแสงเพื่อถ่ายภาพทะเลทรายแอริโซนาเป็นเวลายาวนานมาก ๆ นับพันปี เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทะเลทรายอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงเวลาอันยาวนานนี้



แล้วเทคโนโลยีอะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังกล้องที่ตั้งเป้าหมายให้อยู่ยาวนานถึงพันปีนี้ คีทส์ได้ออกแบบกล้องรูเข็ม (Pinhole Camera) ซึ่งเป็นกล้องชนิดแรกที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน หลักการของกล้องรูเข็มทั่วไปก็คือการปล่อยให้แสงจากวัตถุ ฉายผ่านรูขนาดเล็กให้ตกลงบนแผ่นฟิล์มไวแสง ซึ่งสำหรับกล้องที่คีทส์ออกแบบก็จะเป็นกระบอกทองแดงที่มีแผ่นทอง 24 กะรัตบาง ๆ ที่ปลายด้านหนึ่งของกระบอก ซึ่งก็จะเจาะรูเล็ก ๆ บนแผ่นทองคำนี้เพื่อให้แสงผ่านก่อนจะส่องลงบนพื้นผิวที่ไวต่อแสงที่ส่วนหลังของกระบอกทองแดง ซึ่งก็จะเคลือบด้วยชั้นบาง ๆ หลายชั้นของสีน้ำมันที่เรียกว่า โรสแมดเดอร์ (rose madder) ตัวกล้องนี้จะตั้งอยู่บนเสาเหล็ก หน้ากล้องจะหันไปเหนือทะเลทรายเมืองทูซอน


แสงที่กล้องเปิดรับ จะทำให้เม็ดสีค่อย ๆ จางลงตามระดับต่าง ๆ บริเวณที่มืดกว่าอย่างภูเขา ก็จะเลือนช้าลงกว่าบริเวณที่สว่าง เช่น ท้องฟ้า หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ผลลัพธ์ที่จะได้ในอีก 1,000 ปีข้างหน้าก็คือ ภาพถ่ายที่เปิดรับแสงนานนับสหัสวรรษ แน่นอนว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นระหว่าง 1,000 ปีนี้ แต่คีทส์กล่าวว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ ภาพวิวทิศทัศน์ก็จะแสดงสีเข้ม ในขณะที่ภาพวัตถุที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างอาคารบ้านเรือน ตึกต่าง ๆ ก็จะโปร่งใสไปบางส่วน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นความไม่เที่ยงของมนุษยชาติ


แต่หากจะให้เป็นไปตามแผน กล้องนี้จะต้องอยู่นิ่งถึงศตวรรษที่ 31 ซึ่งไม่มีใครยืนยันได้ว่ามันจะอยู่ยาวนานขนาดนั้น บางทีมันอาจเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีมนุษย์มาขโมยไป อาจจะถูกรื้อเพื่อสร้างอาคาร หรือมนุษย์อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้ แต่ไม่ว่ามันจะอยู่ครบ 1,000 ปีหรือไม่ แต่จุดประสงค์ของมันก็ไม่เพียงให้คนในอนาคตไตร่ตรองถึงอดีต แต่มันก็ได้ทำให้มนุษย์เราในปัจจุบันตระหนักถึงอนาคตด้วย 


เมืองทูซอนนี้เป็นที่แรกที่ตั้งกล้องมิลเลนเนียมคาเมรา แต่คีทส์วางแผนที่จะติดตั้งมิลเลนเนียมคาเมราในอีกหลาย ๆ พื้นที่ เช่นในเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน หรือสวนสาธารณะกริฟฟิธ พาร์ค (Griffith Park) ในลอสแอนเจอลีส และในเดือนพฤษภาคมปีนี้ก็จะติดตั้งอีกหนึ่งเครื่องที่เทือกเขาแอลป์ของออสเตรีย


ที่มาข้อมูล NewAtlas, News.arizona.edu

ที่มารูปภาพ News.arizona.edu

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง