โนเบล : ผู้ได้รับรางวัลสาขาสันติภาพ 6 คน ที่ถูกวิจารณ์ถึงความเหมาะสม
ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2021 จะได้รับการประกาศชื่อในวันศุกร์ที่ 8 ต.ค. นี้ เวลา 16.00 น. ตามเวลาไทย ผู้ได้รับรางวัลครั้งนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ได้รับรางวัลหลายคนในอดีตหรือไม่
รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถือเป็นหนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งใน 6 สาขาของรางวัลโนเบลที่ก่อตั้งขึ้นโดย อัลเฟรด โนเบล นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ และผู้ใจบุญชาวสวีเดน ที่ล่วงลับไปแล้ว
แต่ด้วยความที่รางวัลนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยธรรมชาติ การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจึงทำให้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่ารางวัลโนเบลอีก 5 สาขา นี่คือผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพบางส่วนที่เผชิญกับข้อครหามากที่สุด และผู้ที่พลาดรางวัลอันทรงเกียรตินี้ไป 1 คน
บารัก โอบามา
คนจำนวนมากต่างงุนงงเมื่ออดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐฯ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2009 รวมถึงตัวของเขาเองด้วย
นายโอบามา ถึงขนาดเขียนไว้ในบันทึกความทรงจำปี 2020 ของเขาว่า ปฏิกิริยาแรกของเขาที่มีต่อการประกาศผลคือการถามว่า "เพื่ออะไร"
เขาเพิ่งได้รับตำแหน่งเพียง 9 เดือน และผู้ไม่เห็นด้วยเรียกการตัดสินใจมอบรางวัลนี้ให้กับเขาว่า ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร ความจริงแล้ว เส้นตายการเสนอชื่อผู้เห็นควรได้รับรางวัลนี้หมดเขตหลังจากนายโอบามาสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง 12 วัน
ในปี 2015 แกร์ ลูเนสตาด์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันโนเบล กล่าวกับบีบีซีว่า คณะกรรมการที่ตัดสินมอบรางวัลนี้รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจเช่นนั้น
กองกำลังของสหรัฐฯ ยังคงสู้รบอยู่ในอัฟกานิสถาน, อิรัก และซีเรีย ในช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาดำรงแหน่งอยู่ 2 สมัย
ยัสเซอร์ อาราฟัต
ผู้นำปาเลสไตน์ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับรางวัลนี้ในปี 1994 ร่วมกับนายกรัฐมนตรียิตซัก ราบิน ของอิสราเอล และนายชิมอน เปเรส รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล จากการร่วมมือกันในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพออสโล (Oslo Peace Accords) ซึ่งในยุคทศวรรษ 1990 ได้ให้ความหวังว่า จะเป็นทางออกของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
การตัดสินใจมอบรางวัลนี้ให้กับยัสเซอร์ อาราฟัต ซึ่งเคยเข้าร่วมทำการรบมาก่อน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในอิสราเอลและนานาชาติ
ความจริงแล้ว การเสนอชื่ออาราฟัตทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นภายในคณะกรรมการโนเบลเองด้วย
คอเรอ คริสเตียนเซ่น หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการโนเบลและนักการเมืองชาวนอร์เวย์ ได้ลาออกเพื่อประท้วง
ออง ซาน ซู จี
นักการเมืองชาวเมียนมาที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1991 จากการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงของเธอต่อต้านการปกครองของกองทัพในเมียนมา
แต่กว่า 20 ปีต่อมา ออง ซาน ซู จี เผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการที่เธอไม่ออกมาพูดต่อต้านการสังหารหมู่และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในประเทศ ซึ่งสหประชาชาติเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"
แม้ว่ามีการเรียกร้องให้ถอดเธอออกจากการได้รับรางวัลนี้ แต่ตามกฎเกณฑ์เกี่ยวกับรางวัลโนเบลทั้ง 6 สาขา ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
อาบีย์ อาห์เหม็ด
ในเดือน ธ.ค. 2019 นายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาห์เหม็ด ของเอธิโอเปีย ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ จากความพยายามของเขาในการแก้ปัญหาความขัดแย้งบริเวณพรมแดนที่ดำเนินมายาวนานกับเอริเทรีย ประเทศเพื่อนบ้าน
แต่ผ่านไปเพียงหนึ่งปีเศษ ก็เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่
ประชาคมโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์การที่นายอาบีย์ อาห์เหม็ด ส่งทหารไปยังภูมิภาคทีเกรย์ทางตอนเหนือ
การสู้รบที่นั่นทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และสหประชาชาติเรียกว่าเป็น "การทำลายล้างที่ทำให้ใจสลาย"
วังการี มาไธ
นักเคลื่อนไหวชาวเคนยาผู้ล่วงลับกลายเป็นสตรีแอฟริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปี 2004
แต่ชัยชนะของเธอเกิดขึ้นท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากพบการแสดงความคิดเห็นของเธอเกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์
วังการี มาไธ บอกว่า ไวรัสเอชไอวี ถูกสร้างขึ้นให้เป็นอาวุธชีวภาพ เพื่อทำลายคนผิวดำ
ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนการกล่าวอ้างของเธอ
เฮนรี คิสซิงเจอร์
ในปี 1973 นายเฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยนั้น ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ
การมอบรางวัลนี้ให้กับชายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดหลายอย่างเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่าง ปฏิบัติการทิ้งระเบิดลับในกัมพูชา และการสนับสนุนรัฐบาลทหารที่โหดร้ายในอเมริกาใต้ ทำให้ผู้คนตกตะลึง
คิสซิงเจอร์ ได้รับรางวัลนี้ร่วมกับเล ดุ๊ก โท ผู้นำเวียดนามเหนือ จากบทบาทของพวกเขาในการเจรจาหยุดยิงในสงครามเวียดนาม
สมาชิกคณะกรรมการรางวัลโนเบล 2 คน ลาออกเพื่อประท้วง และนิวยอร์กไทมส์ เรียกรางวัลนี้ว่า รางวัลโนเบลสงคราม (Nobel War Prize)
คานธี ผู้ที่พลาดรางวัล
รางวัลโนเบลขึ้นชื่อในเรื่องของการละเลยคนที่สมควรได้รับรางวัลบางส่วน
ในสาขาสันติภาพ ผู้ที่พลาดรางวัลนี้ไปอย่างชัดเจนที่สุดคือ มหาตมะ คานธี
แม้ว่าจะได้รับการเสนอชื่อหลายครั้ง นักการเมืองอินเดียผู้นี้ ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวใฝ่สันติในศตวรรษที่ 20 ไม่เคยได้รับรางวัลนี้
ในปี 2006 แกร์ ลูเนสตาด์ นักประวัติศาสตร์ชาวนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการที่คัดเลือกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในสมัยนั้น กล่าวว่า การไม่ยอมรับความสำเร็จของคานธี เป็นการละเลยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโนเบล