รีเซต

แนะวิธีรักษาสัมพันธ์ ภาวะ โควิด19 เว้นระยะ แต่อย่ามีท่าที เหมือนไร้ตัวตน

แนะวิธีรักษาสัมพันธ์ ภาวะ โควิด19 เว้นระยะ แต่อย่ามีท่าที เหมือนไร้ตัวตน
ข่าวสด
10 เมษายน 2563 ( 17:36 )
77

กรมอนามัยชี้ สัมผัสกัน ใกล้ชิดได้แค่ไหน หากไม่ออกบ้าน อาจดูแลใกล้ชิดขึ้น ย้ำแม่ยังให้นมลูกได้ แต่เต้าต้องสะอาด ครอบครัวต้องสื่อสารให้เข้าใจ รู้สึกมีตัวตน

วันนี้ (10 เม.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงวิธีการใช้ชีวิตภายในบ้านที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ รวมถึงการแสดงความรักภายในครอบครัว ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ว่า

เรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.ครอบครัวที่มีผู้ที่จะต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการตัวเอง 14 วัน แน่นอนว่า การเว้นระยะ การจัดพื้นที่ส่วนตัว การมีกิจกรรมร่วมกันต้องลดลง 2.ครอบครัวไม่มีใครถูกควบคุมอาการ ก็อยู่อย่างปกติได้

อาจมีบ้างที่บางคนต้องออกนอกบ้าน เช่น ไปทำงาน ไปซื้อของ ที่ต้องทำ คือ ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ ช่วงตอนกลางวัน อากาศร้อน ก็อาจปิดแอร์เปิดหน้าต่างให้โปร่งโล่งสบาย เช็ดถูทำความสะอาด ตัวเราในบ้านหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนปรุงอาหาร หรือพบปะพูดคุย

"คนออกไปนอกบ้านเพื่อทำงานหรือซื้อของ ต้องใช้เวลาน้อยที่สุด กลับเข้ามาล้างมือถอดรองเท้าอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เราก็ใช้พื้นที่ในบ้านที่ดูแลความสะอาดอย่างดี ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน แต่ตอนนี้ยังไม่อยากให้คลุกคลีแบบเข้าไปกอดหอมรัดฟัดเหวี่ยง

แต่การนั่งพูดคุยกัน กินข้าวร่วมกัน ยังสามารถทำได้ แต่อาจต้องแยกสำรับ ซึ่งโดยปกติแล้วอาหารสำหรับผู้สูงอายุและเด็กเล็กก็จะแตกต่าง มีการแยกสำรับอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่ใช้ชีวิตด้วยกันได้ ถ้าไม่มีใครป่วย แต่ต้องสังเกตอาการและระวัง โดยเฉพาะคนที่ยังต้องออกจากบ้าน" พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่คิดว่าสำคัญ คือ แม่ตั้งครรภ์และมีลูกเล็ก ถ้าดูคำแนะนำ ทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ แนะนำว่า เด็กทารกแม้จะไม่มีโรคโควิด-19 เราก็ไม่แนะนำให้ออกจากบ้าน โดยเฉพาะต่ำกว่า 1 ขวบ ที่เราเตรียมภูมิคุ้มกันให้เขา

และยิ่งช่วงโควิดก็ยิ่งไม่แนะนำ เพราะเชื่อมโยงมาสู่เรื่องการใช้หน้ากากในเด็ก เพราะที่แนะนำให้ใส่คือเด็กโตอายุ 2 ขวบขึ้นไปที่จะใส่หน้ากากได้ แต่เด็กเล็กขณะนี้ไม่แนะนำ ต้องจัดพื้นที่ที่สะอาดปลอดภัยให้เด็กทารก แม่ที่ยังเลี้ยงลูกทารกก็ยังสามารถให้นมได้ แต่ต้องดูแลเต้านม ความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงสัมผัสใบหน้าลูก เพราะต้องดูแลลูกที่เป็นเด็กเล็ก

เมื่อถามว่าขณะนี้ต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ต้องมีการทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวหรือไม่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เมื่อก่อนมีการใกล้ชิดในครอบครัวทั้งเด็กและผู้สูงอายุ แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้สูงอายุบางท่านตามข่าวสารก็จะมีความเข้าใจ แต่บางท่านอาจรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมวิถีชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไป

ดังนั้น การพูดคุยในครอบครัวเป็นมาตรการสำคัญ เพื่ออธิบายให้เข้าใจว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องปฏิบัติตัวแบบนี้ ต้องไม่หยุดการสื่อสารพูดคุย เพราะแม้จะรักษาระยะห่าง แต่เราไม่ได้ห้ามเรื่องการพูดคุย นอกจากนี้ ยังต้องประเมินครอบครัวเราด้วยว่า มีความเสี่ยงมากหรือน้อย เพราะมีผลต่อวิธีปฏิบัติตัวระหว่างกัน

"เรื่องการปฏิบัติตัวก็พูดยากว่าต้องตึงขนาดไหน อยู่ที่คนในครอบครัวกับความเสี่ยงที่มี แล้วจะบริหารความเสี่ยงอย่างไร อย่างถ้าเราไม่มีความเสี่ยง ไม่ได้ออกไปข้างนอก ก็อาจจะดูแลพ่อแม่ได้อย่างใกล้ชิดขึ้น แต่ถ้าไม่เลิกพฤติกรรมเสี่ยง ก็ไม่ควรเข้าไปดูแลจัดการผู้สูงอายุ

หรืออย่างบางคนขับรถส่วนตัวไปทำงาน ทำงานในห้องแล้วกลับบ้าน แบบนี้เสี่ยงน้อยก็มีโอกาสใกล้ชิดได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ก็คงต้องสื่อสารว่า ต้องพยายามลดการสัมผัสทางร่างกาย" พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับเด็กนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เด็กเล็กที่ต่ำกว่า 3 ขวบลงมา อย่างไรพ่อแม่ก็ต้องเป็นคนดูแล ดังนั้น พ่อแม่ต้องทำตัวเองให้ปลอดภัย เพราะต้องดูแลเขาแบบใกล้ชิด อย่างการให้นมลูก การรักษษระยะห่างมันทำไม่ได้ ดังนั้น ก็ยังสามารถให้นมลูกได้

แต่ต้องรักษาความะสอาดอย่างมาก แต่ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อย ประมาณ 4-5 ขวบขึ้นไป โดยภาษาเขามีความเข้าใจแล้ว สื่อสารได้มากพอสมคร ก็เป็นวัยที่ต้องอธิบายว่า ทำไมตอนนี้ถึงไปเล่นที่สวนแถวบ้าน หรือสนามเด็กเล่นไม่ได้แล้ว วันหยุดเราไปโรงยิม หรือสระว่ายน้ำไม่ได้แล้ว นอกจากมีคำอธิบาย ต้องมีกิจกรรมอื่นมาทดแทน เพราะเด็กเขาแอคทีฟตลอด

ถ้าทำทั้งสองอย่างได้ เด็กจะเหมือนปิดเทอมยาว แต่ที่ต่างคือออกจากบ้านไม่ได้ ดังนั้น กิจกรรมก็ต้องออกแบบการเล่นได้เอง เพื่อพ่อแม่จะได้ทำอย่างอื่นได้ด้วย ส่วนเด็กโตกว่านั้นก็ยังต้องสื่อสาร แต่เขาก็จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อยู่แล้ว

ถามต่อว่า คนมักรู้สึกว่าการใกล้ชิดสัมผัสหรือการกอด เป็นการแสดงความรัก แต่ช่วงที่สัมผัสกันไม่ได้ จะมีวิธีแบบไหนที่แสดงออกแล้วรับรู้ได้ว่าคือการแสดงความรัก พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า 1.ภาษากายที่เราใช้ เช่น รอยยิ้ม แววตา เป็นหลักที่เราใช้แทนการสัมผัส

2.คำที่เราพูดถึงเขา แทนที่พูดถึงตัวเรา เพื่อให้รัรู้ว่าเรายังใส่ใจเขา และเขายังมีตัวตนอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น เรารู้ว่าวันนี้เขาทำอะไร ทักทายถามไถ่อย่างแม่เมื่อวานปวดเข่าวันนี้หายหรือยัง หรือวันนี้อยู่บ้านเป็นอย่างไร

"คำทักทายเป็นตัวบอกแทนได้ว่า เรายังคงสัมผัสเขา รู้สึกถึงเขา เด็กกับผู้ใหญ่จะคล้ายกัน ความรู้สึกเขาคืออยากให้เรารู้สึกว่ามีเขาอยู่ในบ้าน การไปกอดเป็นวิธีหนึ่งทำให้รู้สึกได้ว่าเขาอยู่ในบ้าน แต่ถ้าวันนี้กอดไม่ได้ ภาษากายกับคำถามที่ทำให้รู้สึกว่ายังใส่ใจเขาอยู่ เหมือนเขาอยู่ในบ้าน ไม่หายไปจากเรามีความหมายมาก" พญ.พรรณพิมล กล่าว


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง