รีเซต

อินเดีย-จีน : บีบีซีไทยอธิบายภูมิหลังข้อพิพาทระหว่างอินเดียและจีนในแคชเมียร์โดยย่อ

อินเดีย-จีน : บีบีซีไทยอธิบายภูมิหลังข้อพิพาทระหว่างอินเดียและจีนในแคชเมียร์โดยย่อ
บีบีซี ไทย
17 มิถุนายน 2563 ( 17:43 )
347

ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและจีนบริเวณพรมแดนบนเทือกเขาหิมาลัยกลายเป็นการปะทะนองเลือดซึ่งทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต

บีบีซีไทยอธิบายภูมิหลังข้อพิพาทระหว่างอินเดียและจีนในแคชเมียร์โดยย่อ

 

เกิดอะไรขึ้น

ทหารอินเดียอย่างน้อย 20 นายเสียชีวิตในเหตุปะทะเมื่อคืนวันจันทร์ที่หุบเขากาลวาน (Galwan valley) ในภูมิภาคลาดักห์ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทระหว่างสองประเทศ

 

จีนกล่าวหาว่ากองทัพอินเดียข้ามพรมแดนเข้ามาสองครั้งมา "ยุแหย่และโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน" ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าไม่มีการยิงกัน ส่วนเจ้าหน้าที่อินเดียเล่าว่ามีการต่อสู้กันด้วยมือเปล่า แท่งเหล็ก และหิน

 

ไม่มีรายงานว่าทหารฝ่ายจีนเสียชีวิต แต่ก็ไม่มีการยืนยันจากทางการจีน และในเวลาต่อมา กองทัพอินเดียบอกว่า ทหารจากทั้งสองฝ่ายได้พบปะเจรจากันเพื่อพยายามคลายความตึงเครียดของสถานการณ์

AFP

สู้กันเรื่องอะไร

หลายทศวรรษมาแล้วที่ชาติมหาอำนาจทางทหารทั้งสองยื้อแย่งดินแดนบนที่สูงซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีคนอาศัยอยู่ และบ่อยครั้งที่มีการเผชิญหน้ากันตลอดแนวพรมแดนร่วมยาว 3,440 กม.

สถานการณ์ตึงเครียดล่าสุดเริ่มจากอินเดียที่ได้สร้างถนนสายใหม่ตามแนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (Line of Actual Control-LAC) ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจ แล้วก็ได้ส่งทหารไปประจำบริเวณนั้น รวมถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตัวเองขึ้นด้วย และนี่ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่สองฝ่ายจะปะทะกัน

ทำไมถึงเป็นเรื่องสำคัญ

ทั้งสองประเทศต่างมองว่าดินแดนนี้มีความสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการทหาร หากไม่มีฝ่ายไหนยอมกันและปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อ นี่ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของทั้งภูมิภาค

เชื่อกันว่าการเสียชีวิตจากการต่อสู้ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี หลังจากก่อนหน้านี้จีนและอินเดียเคยทำสงครามกันเพียงครั้งเดียวในปี 1962 และอินเดียพ่ายแพ้ไปอย่างน่าอับอาย

อันตรายแค่ไหน

อันตรายมากหากไม่สามารถคลายความตึงเครียดของสถานการณ์ได้

ไม่กี่วันมานี้ เจ้าหน้าที่ทหารระดับอาวุโสของสองฝั่งได้มาพูดคุยเจรจากัน แต่ก็อาจจะล้มเหลวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ต้องอย่าลืมว่านี่เป็นสองประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

"นี่เป็นเรื่องร้ายแรงมาก ๆ และจะทำให้การเจรจาอะไรก็ตามที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้กลายเป็นโมฆะไป" ดีเพนดรา ซิงห์ ฮูดา อดีตผู้บังคับบัญชากองทัพภาคเหนือของอินเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง