‘ดีอีเอส’ พร้อมหั่นงบ 10% ช่วยแก้วิกฤตโควิด-19
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงแนวทางการปรับลดงบประมาณ เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ช่วงสัปดาห์ก่อนได้มอบหมายให้ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส ประชุมร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ถึงแนวทางการปรับลดงบประมาณ 10% เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ซึ่งได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปพิจารณาว่าสามารถปรับลดงบประมาณส่วนใดได้บ้าง โดยเรียงลำดับตามความสำคัญ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องเสนอยังปลัดกระทรวงดีอีเอส เพื่อรวบรวมภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจึงเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เพื่อพิจารณาต่อไป
“กระทรวงดีอีเอส ได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 5,000-6,000 ล้านบาท ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยการปรับลดงบประมาณ 10% ไม่ใช่การตัดแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ซึ่งได้ให้แต่ละหน่วยงานไปพิจารณาเอง โดยดูตามความสำคัญ และแม้จะกระทบต่อการบริหารจัดการในโครงการต่างๆ บ้าง แต่ก็จะพยายามทำให้กระทบน้อยที่สุด” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 เชื่อว่า ประชาชนจะมีความตื่นตัวด้านดิจิทัลของคนไทยเพิ่มขึ้น ทั้งจากในภาวะวิกฤตที่ประสบอยู่ขณะนี้ กระทรวงดีอีเอส ได้พัฒนาแอพพลิเคชัน จำนวน 3 แอพพลิเคชัน เพื่อช่วยสนับสนุนมาตรการทำงานจากที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม ของรัฐบาล โดยให้บุคลาการ หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ให้สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้ มีผู้ลงทะเบียนแล้ว จำนวน 300,000-400,000 ราย ทั้งนี้ บุคลาการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เดิมไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้ระบบดิจิทัลมากนัก ดังนั้น ในภาวะวิกฤตนี้ ถือเป็นการปรับพฤติกรรม ปรับความคุ้นชินในการทำงาน เพื่อช่วยยกระดับทำงานของรัฐบาลให้เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-กอฟเวอร์เมนท์
ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณา การช่วยสนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) เพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจ หรือฟื้นฟูนวัตกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมองว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านนวัตกรรม สตาร์ตอัพ ซึ่งมีแนวคิดดีๆ ควรได้รับโอกาสในได้รับทุนสนับสนุน เพื่อนำไปต่อยอดโครงการต่างๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโครงการเดิมที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้า เพื่อเป็นการขยายความช่วยเหลือ ไม่ใช่จะหลับหูหลับตาทำเหมือนเดิม ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้ธุรกิจเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบได้ลืมตาอ้าปากได้