รีเซต

เตรียมเสนอเมียนมาสร้าง “อ่างเก็บน้ำ” แก้ปัญหาน้ำท่วม

เตรียมเสนอเมียนมาสร้าง “อ่างเก็บน้ำ” แก้ปัญหาน้ำท่วม
TNN ช่อง16
13 กันยายน 2567 ( 21:12 )
24

         จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในจังหวัดเชียงรายครั้งล่าสุด สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ระบุว่า สาเหตุมาจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงของ โดย 2 วัน พบมีปริมาณมากกว่า 300 มิลลิเมตร ถือว่าหนักมาก นอกจากนี้ ยังมาจากฝนที่ตกหนักในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ขณะที่ ปริมาณน้ำที่ท่วม อำเภอแม่สาย และ อำเภอเมือง เชียงราย มาจากแม่น้ำคนละสาย แต่ทั้งสองเส้นมารวมกันที่แม่น้ำโขง โดยแม่น้ำสาย คือ น้ำที่ล้นเอ่อเข้าท่วมหลายชุมชนใน อำเภอแม่สาย มีต้นน้ำ มาจากเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ก่อนไหลรวม แม่น้ำรวก ไหลเข้าสู่แม่น้ำโขง ที่ อำเภอเชียงแสน

          ส่วนน้ำที่ท่วมอำเภอเมืองเชียงราย มาจากแม่น้ำกก ซึ่ง ต้นน้ำมาจาก เมืองกก จังหวัดเชียงตุง ไหลลงมาที่ช่องแม่น้ำกก ที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไหลเข้าผ่านตัวเมืองเชียงราย ก่อนลงสู่น้ำโขง ที่บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทำให้ขณะนี้ ระดับน้ำโขงเพิ่มสูง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ที่ อำเภอเชียงแสน ซึ่ง เป็นจุดดรวมน้ำ 3 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา และลาว

          ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากทีมกรุ๊ป ระบุถึงสาเหตุน้ำท่วมเชียงรายครั้งนี้ว่า ลักษณะพื้นที่จังหวัดเชียงรายตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำโขง ต้นน้ำของลุ่มน้ำกกบางส่วน อยู่ในประเทศเมียนมา ซึ่ง เกิดฝนตกหนักจากหางไต้ฝุ่นยางิ ที่ดึงปริมาณน้ำฝนให้ตกอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนอย่าง อำเภอแม่สาย และ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่ง ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมในฝั่งเมียนมาและไทย การขยายตัวของเมือง ชุมชน และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน มีการตัดไม้ทำลายป่าบนภูเขามากกว่าในอดีต จึงไม่มีต้นไม้ที่คอยอุ้มน้ำ และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สร้างในเมือง ยังไปขวางทางน้ำไหล ซึ่ง ในอนาคตมีโอกาสเกิดเช่นนี้เพิ่มมากขึ้น 

         ส่วน GISTDA ใช้ดาวเทียมสำรวจ พบว่า มีน้ำท่วมขังใน 7 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ แม่สาย เชียงแสน เมืองเชียงราย แม่จัน ดอยหลวง เวียงเชียงรุ้ง และเวียงชัย ในขณะที่ จังหวัดเชียงใหม่ พบพื้นที่น้ำท่วมขัง 1 อำเภอ คือ แม่อาย รวมพื้นที่น้ำท่วมขังทั้งหมด 86,438 ไร่ โดยปริมาณน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะถูกระบายลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป

           นายสุรสีห์ กิตติมณฑล สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาระยะยาวมในอนาคต จะหารือความร่วมมือ กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยเฉพาะกับเมียนมา ตามกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยจะเร่งดำเนินการส่งเสริมให้เมียนมาก่อสร้าง "อ่างเก็บน้ำ" บริเวณต้นน้ำ คือในแม่น้ำรวก และแม่น้ำสาย ซึ่ง อ่างเก็บน้ำ จะเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ และกักเก็บน้ำ กรณีที่ฝนตกลงมาจำนวนมาก จะบรรเทาผลกระทบได้ นอกจากนี้ จะขอเข้าไปติดตั้ง เครื่องตรวจวัดปริมาณน้ำฝน และน้ำท่า บริเวณต้นน้ำ กรณีมีฝนตกหนักในเมียนมา จะได้นำข้อมูลมาใช้แจ้งเตือนประชาชน ของทั้งฝั่งเมียนมา และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อย่างทันท่วงที พร้อมย้ำว่า การบริหารจัดการน้ำแม่น้ำโขง จะต้องบริหารจัดการทั้งลุ่มน้ำตั้งแต่จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อ ลดผลกระทบจากอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ภาพ : TNN

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง