รีเซต

18 ปีกระทรวงพลังงาน "สุพัฒนพงษ์" รมว.คนที่14 ชูกระตุ้นศก.-เยียวยาปชช.

18 ปีกระทรวงพลังงาน "สุพัฒนพงษ์" รมว.คนที่14 ชูกระตุ้นศก.-เยียวยาปชช.
มติชน
3 ตุลาคม 2563 ( 07:36 )
65
18 ปีกระทรวงพลังงาน "สุพัฒนพงษ์" รมว.คนที่14 ชูกระตุ้นศก.-เยียวยาปชช.

วันที่ 3 ตุลาคมนี้ ถือเป็นวาระสำคัญอันน่ายินดี สำหรับประชาชนและชาววงการพลังงาน เนื่องจากเป็นวาระสถาปนา กระทรวงพลังงาน ครบรอบ 18 ปี

 

แม้จะเป็นกระทรวงใหม่ที่อายุอานามไม่มากเท่าหลายกระทรวง แต่ผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ การดูแลราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ไม่ให้ซ้ำเติมประชาชน ผ่านกลไกกองทุนน้ำมัน มาตรการลดค่าไฟ และการแจกจ่ายเจลแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ


ย้อนดูประวัติการตั้งกระทรวงพลังงาน พบว่า แรกเริ่มอยู่ในรูปกรรมการ โดยปี 2535 รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมด้านพลังงานของประเทศ แต่ภารกิจในการกำกับดูแลเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน มีการกระจายไปสังกัดในกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ทำให้ขาดเอกภาพในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ


จนกระทั่ง ในปี 2545 มี พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม ขึ้นจึงถือเป็นการก่อตั้งกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545

 

ประกอบไปด้วย หน่วยงานระดับกรม 6 หน่วย คือ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

 

นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และมีรัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงานคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งองค์กรในกำกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

 

ตลอดระยะเวลา 18 ปี กระทรวงพลังงานมีรัฐมนตรีรวม 18 คน ประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 3 ตุลาคม พ.ศ.2545 – 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 – 6 มกราคม พ.ศ.2548, นายวิเศษ จูภิบาล 11 มีนาคม พ.ศ.2548 – 19 กันยายน พ.ศ.2549, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 9 ตุลาคม พ.ศ.2549 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551

 

พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 – 9 กันยายน พ.ศ.2551, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล 9 กันยายน พ.ศ.2551 – 2 ธันวาคม พ.ศ.2551 และ 20 ธันวาคม พ.ศ.2551 – 9 สิงหาคม พ.ศ.2554, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ 9 สิงหาคม พ.ศ.2554 – 18 มกราคม พ.ศ.2555, นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ 18 มกราคม พ.ศ.2555 – 28 ตุลาคม พ.ศ.2555

 

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล 28 ตุลาคม พ.ศ.2555 – 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557, นายณรงค์ชัย อัครเศรณี 30 สิงหาคม พ.ศ.2557 – 19 สิงหาคม พ.ศ.2558, พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ 19 สิงหาคม พ.ศ.2558 – 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2560, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 – 10 กรกฎาคม พ.ศ.2562, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2562 – 15 กรกฎาคม พ.ศ.2563 และล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ 5 สิงหาคม พ.ศ.2563 – ปัจจุบัน

 

ลงลึกผลงานสำคัญด้านพลังงานในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ด้านราคาพลังงาน ได้บรรเทาผลกระทบด้านพลังงานต่อประชาชน อาทิ การปรับราคาขายปลีกน้ำมันด้วยการยกเลิกการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งการตรึงราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) การตรึงราคาขายปลีกเอ็นจีวี (ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์) สำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ การตรึงราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที)


ด้านความมั่นคงด้านพลังงาน อาทิ การเปิดให้สิทธิและสำรวจปิโตรเลียมทั้งในบนบก และในทะเล การส่งเสริมกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปสำรวจ ลงทุน และผลิตด้านปิโตรเลียมในต่างประเทศ การพัฒนาระบบท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อน้ำมัน LNG Receiving Terminal

 

รวมทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การลงทุนก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และการส่งเสริมขยายการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคี (LTMS)

 

ด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้า ความร้อน และนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ มาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน อาคารควบคุม โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

 

โดยการบริหารจัดการพลังงานผ่านกลไกด้านพลังงาน อาทิ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการวางแผนด้านพลังงานอย่างบูรณาการผ่านแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว

 

กระทรวงพลังงานยังมีการพัฒนาพลังงานควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาผลิตและใช้พลังงานควบคู่กับการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด การควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง การกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง

 

อีกเรื่องที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและการให้ความรู้ด้านพลังงาน เช่น การสนับสนุนการดำเนินงานของ อส.พน. การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การส่งเสริมการเรียน การสอนด้านพลังงานในสถานศึกษา และการให้ความรู้ด้านพลังงานแก่ประชาชน

 

ล่าสุดภายใต้การบริหารงานของ สุพัฒนพงษ์พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้จะยังไม่ครบ 2 เดือนเต็ม แต่ได้เดินหน้าภารกิจที่มากกว่าเดิม จากกระทรวงที่เน้นความมั่นคง ไปสู่การดูแลภาระค่าครองชีพประชาชนจากราคาพลังงานที่เป็นธรรม รวมทั้งการสร้างงานสร้างอาชีพ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบโควิด-19

 

“สุพัฒนพงษ์” ประกาศมุ่ง 3 นโยบายหลัก คือ 1.พลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.พลังงานสร้างงานสร้างรายได้ และ 3.พลังงานวางรากฐานเพื่ออนาคต พร้อมตั้งเป้าหมายดำเนินงาน 7 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าชุมชน 2.การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ 3.การจัดทำหลักเกณฑ์กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2564 4.การผลักดันยานยนต์ไฟฟ้า 5.แนวทางการบริหารจัดการการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม (Decommissioning) 6.ศูนย์กลางการซื้อ-ขายก๊าซแอลเอ็นจีของภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) และ 7.การกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงาน การบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

 

“สุพัฒนพงษ์” ยังย้ำว่า กระทรวงพลังงานจะเดินหน้านโยบายต่างๆ ที่มุ่งประโยชน์ต่อประชาชน ลดภาระค่าครองชีพช่วงโควิด-19 และให้กลุ่มพลังงานช่วยเหลือประชาชนผ่านการจ้างงาน จากการรวบรวมข้อมูลคาดว่าจะมีการจ้างงานประมาณ 3 หมื่นตำแหน่ง

 

“ขณะนี้ในด้านราคาพลังงานไม่น่าห่วง เพราะราคาค่อนข้างนิ่งในระดับไม่สูงมาก คือ น้ำมันดิบราคาประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลถึงสิ้นปี ขณะที่ราคาก๊าซทั้งเอ็นจีวีสำหรับรถโดยสารสาธารณะ แอลพีจีครัวเรือนก็ตรึงราคาถึงสิ้นปี ส่วนค่าไฟอยู่ระหว่างพิจารณาโครงสร้างต้นทุนที่เหมาะสม ลดภาระประชาชน”

 

เป็นนโยบายที่ประชาชนทุกภาคส่วนต่างเกาะติดผลลัพธ์ พิสูจน์ฝีมือรัฐมนตรีพลังงานคนที่ 14 ในรอบ 18 ปีของการก่อตั้งกระทรวง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง