รีเซต

‘ยาบ้าทดแทน’ หนทางแก้ปัญหานักเสพยาหน้าใหม่

‘ยาบ้าทดแทน’ หนทางแก้ปัญหานักเสพยาหน้าใหม่
TNN ช่อง16
20 กุมภาพันธ์ 2567 ( 12:53 )
67
‘ยาบ้าทดแทน’ หนทางแก้ปัญหานักเสพยาหน้าใหม่



‘ในจำนวนผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ปี 2566 มากกว่า 2 แสนรายที่ต้องคดีพ.ร.บ.ยาเสพติด และในจำนวนนี้มีมากกว่า 1 แสน 2 หมื่นรายที่เป็นเรื่องของยาบ้า’


ทีมข่าว TNN Online พบข้อมูลว่า จากรายงานสถิติผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ. ยาเสพติดทั่วประเทศ (ณ วันที่ 1 มกราคม 2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 206,361 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 78.67 ของผู้ต้องขังทั่วประเทศ


เมื่อแยกตามประเภทของตัวยา 3 อันดับที่พบมากที่สุด ได้แก่

1. เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) จำนวน 129,686 คน

2. ยาไอซ์ จำนวน 17,762 คน

3. กัญชา จำนวน 1,051 คน


เมื่อแยกตามประเภทคดี 3 อันดับที่พบมากที่สุดได้แก่

1. รวมประเภทยาเสพติดเพื่อจำหน่าย จำนวน 149,214 คน

2. ครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 119,464 คน

3. รวมประเภทเสพ จำนวน 22,364 คน


จากข้อมูลชุดนี้จะเห็นได้ว่ามีผู้ต้องขังมากเกินครึ่งที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเมื่อมองให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจาก ‘ยาบ้า’ 


ทั้งนี้มีข้อมูลเสริมว่า ปัจจุบันช่วงวัยของผู้ใช้ยาเสพติด หรือที่เราเรียกกันว่า นักเสพหน้าใหม่เริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากรายงานผลการดำเนินงานตามแบบบำบัดรักษาของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2565 พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัด ทั้งหมด 120,915 คน 


เมื่อจำแนกตามอายุ พบว่า

* น้อยกว่า 12 ปี จำนวน 34 คน

* 12-17 ปี จำนวน 7,983 คน

* 18-24 ปี จำนวน 22,301 คน

* 25-29 ปี จำนวน 21,185 คน

* 30-34 ปี จำนวน 19,255 คน

* 35-39 ปี จำนวน 16,991 คน

* มากกว่า 39 ปี จำนวน 33,166 คน


ยาเสพติดหลักที่ใช้

* ยาบ้า จำนวน 96,248 คน

* ยาไอซ์ จำนวน 7,089 คน

* เฮโรอีน จำนวน 6,325 คน

* กัญชา จำนวน 4,520 คน

* ฝิ่น 2,803 คน

* ยาเสพติดชนิดอื่น ๆ จำนวน 3,930 คน


ทบทวนองค์ความรู้เรื่องของ ‘ยาบ้า’


ยาบ้า หรือ แอมเฟตามีน หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่า ยาม้า ลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขม มีทั้งชนิดแคปซูลและชนิดเม็ดรูปร่างต่างๆ 


ยาบ้ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง จากผลของสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ เมทแอมเฟตามีน ซึ่งจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 


ลักษณะของยาบ้าที่พบในปัจจุบันนับตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นยาเม็ดกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร หนาประมาณ 2.5 มิลลิเมตร นํ้าหนักเม็ดยาโดยเฉลี่ย 90 มิลลิกรัม เม็ดยาส่วนใหญ่เป็นสีส้ม บางครั้งพบเป็นสีเขียว หรือสีอื่นๆ เช่น สีนํ้าตาล สีม่วง 


สัญลักษณ์บนเม็ดยาที่พบมากคือ “WY” นอกจากนี้ยังอาจพบสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น “MW” “99” หรือเป็นเม็ดยาเรียบไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ 


ยาบ้ามีผลต่อร่างกาย ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นหลอดเลือดขยายตัวหลอดลมขยายตัวปากแห้ง ท้องไส้ปั่นป่วน นํ้าหนักลดเนื่องจากแอมเฟตามีนไปกดศูนย์ความรู้สึก ในสมองทำให้ไม่รู้สึกหิว หากได้รับยาเกินขนาดจะทำ ให้เกิดอาการมึนงง สับสน สั่นตามมือตามเท้าและร่างกาย ประสาทหลอน มีอาการตื่นกลัว หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจหมดสติได้


ยาบ้ามีผลต่ออารมณ์ ทำให้ผู้ใช้ยามีความรู้สึกดีและอารมณ์ดี และรู้สึกว่าอาการเหนื่อยล้านั้นหายไป มีความกระตือรือร้นมากขึ้น สมองแจ่มใส มีความรู้สึกอยากให้งานเสร็จ หากใช้ยาขนาดสูงโดยการฉีดหรือสูดดมจะทำ ให้เกิดความรู้สึกเคลิ้มสุขและมีความพึงพอใจมาก 


ข้อมูลทางการแพทย์ พบว่า วัยรุ่นสามารถเริ่มใช้ หรือ เสพยาบ้าได้ตั้งแต่อายุ 13-18 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีความอยากรู้อยากลอง ขณะที่จิตใจยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่พฤติกรรมบางครั้งจะแปรปรวนและมีจิตใจที่อ่อนไหว 


เมื่อมีเพื่อนแล้วก็ต้องการการยอมรับในกลุ่มเพื่อน เพื่อนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากวัยรุ่นคบเพื่อนที่เสพยาก็มีความเสี่ยง สูงที่เพื่อนจะชักนำให้รู้จักและลองเสพยาบ้าด้วยและวัยรุ่นส่วน ใหญ่ก็จะมองไม่เห็นผลร้ายของยาบ้าเนื่องจากเพื่อนๆล้วนเสพยาบ้าด้วยกันทั้งนั้น 


‘ประเทศไทยกับการบำบัดรักษายาเสพติด’


สำหรับแนวทางการดำเนินงานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2566 ของกระทรวงสาธารณสุข สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด 


ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘บำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดด้วยพลังสังคม เพื่อสังคมที่ปลอดภัยจากยาเสพติด และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย’ ได้แบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่


1.เพิ่มการเข้าถึงและแรงจูงใจในการเข้าสู่ระบบบำบัด
พัฒนาการสื่อสารและสื่อที่ใช้จูงใจผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบบำบัดยาเสพติด รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ป่วยยาเสพติดด้วยสื่อการเรียนรู้ที่มีประโยชน์และน่าสนใจ


2.สนับสนุนการบำบัด รักษา และฟื้นฟูที่มีคุณภาพมาตรฐานด้วยพลังสังคมและชุมชน หรือที่เรียกว่า Community Based Treatment and Rehabilitation (CBTx) เป็นนโยบายหลักที่ให้ความสำคัญกับชุมชน อาศัยการมีส่วนร่วมของบุคคลใกล้ชิด อาทิ ครอบครัว ในการช่วยผลักดันการรักษา บูรณาการรักษาและฟื้นฟูให้เข้ากับระบบบริการสุขภาพของชุมชน 


3.ยกระดับระบบบำบัด รักษาและฟื้นฟู
ขยายการจัดการด้านการบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกล หรือถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ผู้ป่วยมีตัวเลือกในการเข้ารับการรักษามากขึ้นและหลากหลายขึ้น


4.พัฒนาองค์กรและภาคีเครือข่าย
บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยยกระดับระบบบำบัดฟื้นฟูและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ 


‘ยาทดแทนยาบ้า’ ทางเลือกเพื่อลดผู้ติดยา ทางออกเพื่อคืนคนดีสู่สังคม


ทางเลือกนี้เป็นสิ่งที่กระทรวงยุติธรรมพยายามเร่งพัฒนาเพื่อช่วยผู้ติดยาเสพติดให้ได้รับการบำบัดรักษาในอีกทางหนึ่ง โดยพิจารณาการหา ‘ยา หรือ สาร’ มาใช้ทดแทนการใช้ยาบ้า 


ซึ่งมีแนวความคิดเหมือนการใช้ เมทาโดน ซึ่งเป็นสารในกลุ่มเดียวกันกับฝิ่น เฮโรอีน มอร์ฟีน โคดิอีน ซึ่งเรียกรวมๆว่ากลุ่มโอปิออยด์ มาใช้ทดแทนยาเสพติดเฮโรอีน 


ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารณ์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ยาทดแทนยาบ้าควรมีเพื่อลดอาการอยากยา แต่ที่สำคัญยาตัวดังกล่าวต้องไม่มีฤทธิ์กระทบกระเทือนสมอง หรือไม่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข(มีความสุข)


เนื่องจากหากผู้เสพเสพยาทดแทนดังกล่าวไปแล้วและยาชนิดนั้นมีผลต่อสมองและอารมณ์ เป็นไปได้ว่าผู้เสพจะมีการใช้ปริมานยาทดแทนดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสมองติดยาและเมื่อสมองติดยาก็จะทำให้เกิดการเสพอยู่ 2 แบบคือ เสพเพื่อให้สนุกมีความสุข และเสพเพื่อหนีจากการทรมานที่ไม่ได้ยาเสพติด


ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยาเสพติดประเภทเฮโรอีนมีเมทาโดนเข้ามามีส่วนช่วยในการบำบัดให้ผู้ติดเฮโรอีนไม่รู้สึกว่าทรมานจากการไม่ได้รับเฮโรอีน ยาดังกล่าวจะไม่มีฤทธิ์เคลิ้มสุข แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในส่วนของยาบ้ายังไม่มียาตัวไหนที่เข้ามาช่วยในการบำบัดแบบเมทาโดน


ทำให้ตอนนี้ทางการแพทย์ต้องใช้ยารักษาตามอาการผู้ติดยาบ้าไปก่อน แต่ก็จะเริ่มมีการทดลองใช้ยากระตุ้นสมองซึ่งต้องทำอย่างระมัดระวังมีการจำกัดการใช้อย่างเหมาะสม ใช้ในกลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาแล้วว่าจะสามารถเกิดประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง


“การจะเอายาตัวนี้มาใช้เพื่อบำบัดผู้เสพ เพราะเขาเป็นผู้ป่วยที่ต้องการได้รับยาระยะยาว แต่ทั้งนี้เราไม่ได้โปรโมทให้ใช้ยานี้เพื่อเสพติดแทนยาบ้า แต่ต้องใช้เพื่อบำบัด” ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าว


ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวย้ำว่า ยาทดแทนไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยผู้ป่วยยาเสพติดได้เพียงทางเดียว แต่สิ่งที่จะช่วยรักษาได้ดีที่สุด คือการช่วยเหลือจากสังคมและครอบครัว เพราะหลายครั้งเราจะเห็นว่าผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัด หันกลับไปใช้ยาอีกครั้งเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว


นอกจากยาทดแทนยาบ้าที่จะช่วยผู้ป่วยยาเสพติดได้ ยาที่เรียกว่าโอกาส จากสังคมและครอบครัว ถือเป็นยาอีกหนึ่งชนิดที่จำเป็นเช่นกัน


อ้างอิง :

กระทรวงสาธารณสุข






ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง