เปลี่ยนแผนปล่อยลูกช้างป่าห้วยขาแข้งหลงฝูงตามหาแม่
วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่จังหวัดอุทัยธานี นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12( นครสวรรค์) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ชุดคชสาร ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ว่า พบช้างฝูงแม่ กำลังเดินหากินอยู่ห่างจากหอต้นผึ้ง ราว 1 กิโลเมตร และเจ้าหน้าที่สอบถามมายังพี่เลี้ยง เพื่อให้พี่เลี้ยงเดินนำลูกช้างไปส่งให้แม่ช้าง โดยได้ประสานไปยังทีมงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านการปล่อยลูกช้างคืนป่า ได้รับคำแนะนำว่า ให้ทำได้เฉพาะในเวลากลางวัน โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของลูกช้าง และเจ้าหน้าที่เป็นลำดับแรก
จึงได้วางแผนดำเนินการตามคำแนะนำ และได้รับแจ้งจากชุดติดตามช้างฝูงแม่ ว่า พบเห็นตัวฝูงช้าง ที่พิกัด 534467 E1721728N เวลา 14.45 น. โดยนางสาววีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12( นครสวรรค์) จึงได้นำทีมผู้ดูแลลูกช้าง พร้อมด้วย หัวหน้ากลุ่มวิชาการ หัวหน้า สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และทีมงานเฝ้าระวังจำนวน 9 นาย ได้ทำการปล่อยลูกช้างออกจากคอก ให้พี่เลี้ยงเดินนำลูกช้างออกเดินทางไปยังพิกัดข้างเคียงดังกล่าว จากนั้นทีมสำรวจหาแม่ช้างแจ้งว่า ฝูงช้างได้รับรู้ถึงสิ่งแปลกปลอมที่เข้าใกล้ จึงแตกฝูงเคลื่อนย้ายหายไป ไม่ทราบทิศทาง และยังติดตามไม่ได้ ทีมพี่เลี้ยงจึงได้นำลูกช้าง ไปยังแหล่งน้ำข้างเคียง เพื่อหาโอกาสในการพบฝูงที่แตกกระจายมา เป็นเวลา 1 ชั่วโมง แต่ ไม่พบฝูงช้างผ่านมาแต่อย่างใด จึงได้นำลูกช้าง ออกเดินทางกลับมายัง คอกที่หอต้นผึ้ง เช่นเดิม
สำหรับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินการคราวต่อไปเพื่อให้การปฎิบัติการนี้สำเร็จ ข้อมูลที่ตั้งและการเคลื่อนไหวของช้างฝูงแม่ของชุดติดตามฝูงช้าง ยังขาดความสมบูรณ์ ชัดเจน เป็นสาเหตุทำให้นำข้อมูลมาประมวลผลผิดพลาด ส่งผลต่อการวางแผนดำเนินการในขั้นต่อไป ผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่บริเวณหอต้นผึ้ง มีมากเกินไปส่งผลให้ ฝูงช้างวนเวียนมาใกล้ แต่ไม่เข้ามาในโป่ง ในเบื้องต้นให้ทีมงานที่เฝ้าระวังและดูแลลูกช้าง ลดจำนวนคน และกิจกรรมที่ทำที่หอต้นผึ้งลงให้น้อยที่สุด โดยกลางวันเหลือเพียง 1-2 คน และเวลากลางคืน 2-3 คน เท่านั้น และเตรียมอาหารทั้งของคนและของลูกช้างให้เตรียมมาจากภายนอก ห้ามดำเนินการที่หอต้นผึ้ง ให้ทีมงานของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำรวจข้อมูลการเคลื่อนที่ของฝูงช้าง ให้ชัดเจนลงในรายละเอียดว่าแหล่งที่พักหลับนอน ตอนกลางวัน และแหล่งน้ำที่ใช้ใกล้เคียงจุดที่พักนอน อยู่บริเวณไหน อย่างไร มากกว่านี้ เพื่อจะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนนำลูกช้างไปปล่อยให้เข้าใกล้ช้างฝูงแม่มากที่สุด ในโอกาสหน้าอันใกล้นี้ ต่อไป
สำหรับ ลูกช้างหลงฝูงออกจากฝูงแม่มาเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามจะนำปล่อยเข้าป่าเพื่อให้ลูกช้างเข้าสูงแม่ให้ได้ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ และลูกช้างมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์