ผ่าแผนลงทุน‘ปีวัวดุ’ รัฐตั้งการ์ดสูง สู้โควิดระลอกใหม่
ผ่านไปหมาดๆ สำหรับปี 2563 เรียกได้ว่าเป็นปีที่โหดหินของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี สาเหตุหลักเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ในปี 2564 นี้ ยังเป็นอีกหนึ่งปีที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์หลักที่รัฐจะต้องฝ่าปัญหานี้ไปให้ได้
⦁คมนาคมทุ่มงบลงทุน2.3แสนล.
จากการระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาลงทุนในไทยได้เหมือนในอดีต ทำให้รัฐบาลต้องหันมาผลักดันในเกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้นในปี 2564 เริ่มที่ กระทรวงคมนาคม ภายใต้การนำของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมงบประมาณในส่วนของการลงทุนไว้ที่ประมาณ 231,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.64% เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2563 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 197,149 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นวงเงิน 34,775.09 ล้านบาท ซึ่งในวงเงินดังกล่าวนั้น แบ่งเป็นหน่วยงานส่วนราชการ วงเงิน 193,554 ล้านบาท และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 38,370 ล้านบาท
เมื่อแยกเป็นงบประมาณในส่วนต่างๆ พบว่างานนโยบาย วงเงิน 973.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.65% คิดเป็น 0.42% ของวงเงินทั้งหมด ด้านระบบขนส่งทางบก วงเงิน 186,359.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.46% คิดเป็น 80.35% ของวงเงินทั้งหมด ด้านระบบขนส่งทางราง วงเงิน 33,603.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.38% คิดเป็น 14.49% ของวงเงินทั้งหมด ด้านระบบขนส่งทางน้ำ วงเงิน 4,867 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 16.67% คิดเป็น 2.10% ของวงเงินทั้งหมด และด้านระบบขนส่งทางอากาศ วงเงิน 6,120 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.21% คิดเป็น 2.64% ของวงเงินทั้งหมด
ประเมินจากวงเงินงบประมาณในปี 2564 แล้ว เรียกได้ว่าการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของกระทรวงคมนาคมน่าจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนภาคการท่องเที่ยวที่อยู่ในภาวะซบเซา
สำหรับโครงการที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 2558-2565 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแล้ว ได้แก่ โครงการ M6 ครม.มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท คาดว่าต้นปี 2566 จะเปิดใช้ได้ ถือว่าทุกอย่างยังเดินตามไทม์ไลน์ ส่วนจะเปิดให้ทดลองวิ่งก่อนหรือไม่ ยังเหลืองาน การดำเนินงานและการบำรุงรักษา หรือโอแอนด์เอ็ม และถนนต้องเชื่อมต่อกัน และโครงการ M81 ครม. มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 55,620 ล้านบาท ขณะนี้กำลังเดินหน้าตามแผนจากที่ผ่านมาติดปัญหาเวนคืนได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมมีแผนจะทำมอเตอร์เวย์เพิ่ม ในส่วนของถนนพระราม 2 มีแผนจะก่อสร้างมอเตอร์เวย์เพิ่มเติมจากเอกชัย-บ้านแพ้ว วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ที่มีรายได้ปีละ 10,000 ล้านบาท ก่อสร้างใช้เวลา 3 ปี สายมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 79,000 ล้านบาท ล่าสุดยังติดปัญหาประชาชน จ.เพชรบุรี อยากให้ทบทวนแนวก่อสร้าง ซึ่งแนวเดิมเกรงว่าจะมีปัญหา จึงต้องลงไปรับฟังความเห็นประชาชนทำความเข้าใจ หากสามารถเจรจาลงตัว คาดว่ากลางปีหน้าจะสามารถเดินหน้าโครงการได้ แต่ถ้าไม่ยอมอาจจะทำเป็นช่วงๆ แทน
⦁เดินหน้าใช้ยางในประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนพัฒนารายได้ของประชาชนโดยการนำผลิตภัณฑ์ยางพารามาทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ และหลักนำทาง เพื่อสร้างดีมานด์ให้กับชาวสวนยาง ซึ่งได้อุปกรณ์ทั้งหมดไปทดสอบที่ประเทศเกาหลีใต้แล้ว โดยจะมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้พาราเอซีให้เหลือเพียงเอซี อย่างเดียวแต่ละปีมีผลผลิตยางพาราออกมาประมาณ 300,000 ตันต่อปี ล่าสุด รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมาให้แล้ว 1,700 ล้านบาท โดยกระจายไปทั่วประเทศ จำนวน 12 จังหวัด
สำหรับจุดที่จะดำเนินการนั้น จะเริ่มจุดที่มีอุบัติเหตุเยอะๆ โดยกระทรวงคมนาคมยังตั้งเป้าของบกลางปี 2564 และปี 2565 จะของบประมาณดำเนินการให้ครบตามที่วางแผนไว้ 3 ปี วงเงินรวม 85,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งจะเป็นแผ่นหุ้มแบริเออร์ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นหลักนำทาง จะซื้อตรงจากสหกรณ์การเกษตร ไม่ผ่านคนกลาง และเมื่อโครงการนี้ทำสำเร็จคาดว่าจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ ใน 3 ปี เงินถึงมือชาวสวนยาง 3 หมื่นล้านบาท
⦁ทย.พัฒนาขีดความสามารถทางวิ่ง
ส่วนในเรื่องของการดำเนินการสายอากาศ ขณะนี้ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งดำเนินการตามแผนลงทุนปี 2564 ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท มีแผนการลงทุนส่วนใหญ่คือการเพิ่มขีดความสามารถของทางวิ่ง รองรับอากาศยานในจำนวนและขนาดใหญ่มากขึ้น เบื้องต้น ทย.มีโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะประกาศประกวดราคาภายในกลางเดือนมกราคมนี้
แบ่งเป็นโครงการลงทุน อาทิ โครงการต่อเติมความยาวทางวิ่ง สนามบินตรัง จากความยาว 2,200 เมตร เป็น 2,990 เมตร วงเงินราว 1,800 ล้านบาท โครงการต่อเติมความยาวทางวิ่ง สนามบินบุรีรัมย์ จากความยาว 2,100 เมตร เป็น 2,900 เมตร วงเงินราว 950 ล้านบาท โครงการขยายลานจอดรับอากาศยานเพิ่ม สนามบินบุรีรัมย์ อยู่ระหว่างจัดทำราคากลาง โครงการเสริมความแข็งแรงของทางวิ่ง และขยายลานจอดอากาศยาน สนามบินสุราษฎร์ธานี จากปัจจุบันรองรับ 3 ลำ เป็น 5 ลำ วงเงินราว 800 ล้านบาท โครงการปรับปรุงทางวิ่ง และขยายลานจอดอากาศยาน สนามบินขอนแก่น จากปัจจุบันรองรับ 5 ลำเป็น 12 ลำ อยู่ระหว่างจัดทำราคากลางและทีโออาร์
ขณะที่งบประมาณลงทุนในปี 2565 เบื้องต้น ทย. จัดทำคำของบประมาณอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับจัดสรรกว่า 5,000 ล้านบาท ทย.จะจัดทำแผนลงทุนให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกสนามบิน กระจายการลงทุนให้ทั่วถึงทั้ง 29 สนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแล ส่วนการเปิดสนามบินเบตง จะเร่งดำเนินการทดสอบการขึ้นลงของอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเปิดให้บริการภายใน 1-2 เดือนหลังจากนี้
ส่วนความคืบหน้าของการโอนย้ายสนามบินที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ทย. ไปยังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มี 3 สนามบิน ได้แก่ บุรีรัมย์ ชุมพร และกระบี่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2564
⦁เล็งใช้รถเมล์อีวี พ.ค.64
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเดินหน้าใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามที่ได้มีการเสนอผลการศึกษาการเปลี่ยนผ่านยานยนต์จากระบบเชื้อเพลิงไปเป็นระบบไฟฟ้า คาดว่าใช้เวลาราว 15 ปี ในการเปลี่ยนผ่านระบบเชื้อเพลิงดังกล่าว แต่กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจริงราว 20 ปี เนื่องจากต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งหามาตรการจูงใจ อาทิ ปรับลดค่าธรรมเนียมการต่ออายุ
เบื้องต้นอาจเริ่มนำร่องก่อนในรถโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2,511 คัน ล็อตแรกจะเริ่มวิ่งรถอีวี จำนวน 400 คัน ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 หากครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟู ขสมก.เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจะดำเนินการรถจักรยายนต์รับจ้างสาธารณะและรถแท็กซี่โดยสารสาธารณะ แต่การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงรถยนต์มาเป็นระบบไฟฟ้าในไทยยังมีต้นทุนสูงถึงคันละ 3 แสนบาท ซึ่งไทยก็ต้องเร่งพัฒนาการผลิตโดยขณะนี้มีบริษัทไทยที่สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้เองแล้ว
⦁หนุนลงทุนอีวี-ทบทวนภาษีจูงใจ
ประเด็นการขับเคลื่อนรถอีวี ปัจจุบันมีคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขับเคลื่อนอยู่ เบื้องต้นคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้บอร์ดอีวีจะมีการพิจารณามาตรการสนับสนุนชุดใหญ่ และอาจกำหนดเป้าหมายจำนวนรถอีวีในปี 2573 หรือ 2030 เป็น 50% จากปริมาณรถยนต์ทั้งระบบ เพื่อวิ่งให้ทันตามเทรนด์โลก
ประเด็นนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกแพคเกจลงทุนอีวีชุดใหม่แล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าทบทวนปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ โดยกรมได้เชิญผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 20 บริษัท หารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์รอบใหม่ จากโครงสร้างปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในปี 2568 และจากนั้นจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราภาษีรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งปล่อยมลพิษมาก เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตหันไปผลิตรถยนต์ประเภทที่ปล่อยมลพิษน้อยลง ทั้งไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์อีวี
หลังจากนี้ กรมสรรพสามิตจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการปรับภาษีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเพิ่มขึ้นให้สูงที่สุดกว่ารถยนต์ประเภทอื่น เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีใครผลิตรถยนต์อีวี อย่างปัจจุบันมีมาตรการส่งเสริมลดภาษีให้เหลือ 0% กรณีผลิตในประเทศ ช่วงปี 2563-2565 ก็ยังไม่เกิด รวมถึงหากยังส่งเสริมอีโคคาร์อยู่ ซึ่งปัจจุบันอีโคคาร์ ระยะที่ 2 ได้ภาษีอัตรา 10% กับไฮบริด 4% ผู้ผลิตก็ไม่ยอมไปผลิตรถอีวี เพราะยังอยากใช้เทคโนโลยีเดิมอยู่ ดังนั้น หลังปี 2568 มีโอกาสที่จะต้องเลิกส่งเสริมอีโคคาร์ เพื่อป้องกันให้ผู้ประกอบการเสียหายน้อยที่สุด
⦁พลังงานกระตุ้นเพิ่ม1.27แสนล้าน
ด้านกระทรวงพลังงานที่นำทีมโดยสุพัฒนพงษ์ พบว่ามีการเตรียมแผนลงทุนไว้เช่นกัน โดยได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานไทยในปี 2564 ไว้ 3 ด้านหลัก คือ 1.ด้านการสร้างพลังงานเข้มแข็ง จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม. เห็นชอบแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาของภาครัฐและเป็นกรอบการลงทุนที่ชัดเจนของภาคเอกชน ผลักดันความชัดเจนเรื่องลดสำรองไฟฟ้า เดินหน้าส่งเสริมแข่งขันเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนอีวี เพื่อกระตุ้นการลงทุน รวมถึงเตรียมความพร้อมการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา และกำหนดการส่งเสริมการลงทุนปิโตรเลียมระยะที่ 4 ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
2.ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จะกระตุ้นยอดขายดีเซล หรือบี10 กำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินหลัก โดยผลักดันให้โรงกลั่นผลิต จี-เบส ได้ตามมาตรฐานภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และร่วมขับเคลื่อนโครงการชุมชนทั่วประเทศร่วมกับกระทรวงมหาดไทย
และ 3.ด้านการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาด โดยจะเร่งรัดการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 150 เมกะวัตต์ส่งเสริมกระตุ้นการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ ส่งเสริมการใช้โซลาร์รูฟท็อปให้เติบโต 100 เมกะวัตต์ ริเริ่มอีเอสซีโอภาครัฐเพื่อลดใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้เกิดการลงทุน โดยคาดว่าภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายในปี 2564 ดังกล่าว จะสามารถสร้างเม็ดเงินลงทุนให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 127,932 ล้านบาท
⦁อีอีซีปักหมุดลงปี’64 แตะ 4 แสนล้าน
อีกแหล่งลงทุนที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ นั่นคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เครื่องมือหลักในการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ระดับโลก ให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นสูง เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับความเจริญของประเทศ โดยมีอีอีซีเป็นจุดเชื่อมโยง
ภายหลังความพยายามผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ในอีอีซี อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมืองการบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้ผู้ชนะ โครงการเริ่มเดินหน้าเป็นรูปเป็นร่าง
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนในอีอีซี ปี 2564 ประมาณ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 5จี ในพื้นที่อีอีซีประมาณ 100,000 ล้านบาท และการลงทุนของภาคเอกชนที่มีการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอประมาณ 300,000 ล้านบาท และยังมั่นใจว่าหลายโครงการที่มีการชะลอการลงทุนในปี 2563 จะเลื่อนการลงทุนไปในปีหน้าหลังจากที่มีวัคซีนโควิด-19
การลงทุนส่วนนี้จะสำเร็จได้จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ในปี 2564 จะมีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก 5จี ให้เพิ่มขึ้นปัจจุบันที่มีผู้ใช้ประโยชน์เพียง 15-20% เพื่อต่อยอดให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง
ได้แก่ 1.สร้างผู้ใช้ 5จี อย่างเป็นระบบ ผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ใช้เทคโนโลยี 5จี ในโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เขตส่งเสริมอีอีซี ประมาณ 10,000 แห่ง โรงแรมทั้งหมดในอีอีซี ประมาณ 300 แห่ง หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาลรวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเอสเอ็มอี โดยได้จัดทำโครงการนำร่องพัฒนาระบบ 5จี เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน เริ่มตั้งแต่บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ เสริมความมั่นคง สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เสริมโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเสริมประสิทธิภาพอุตสาหกรรม และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อให้ชุมชนได้เริ่มทดลองใช้ระบบ 5จี อย่างทั่วถึง
2.เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูล ผลักดันให้ภาคเอกชนและภาครัฐ จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ ในพื้นที่อีอีซี โดยให้อีอีซีดีเป็นจุดติดตั้งศูนย์ข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีการวางแนวทางและปรับข้อกฎหมาย นำข้อมูลคลาวด์ภาครัฐ และคลาวด์ภาคเอกชน เฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้มาจัดทำข้อมูลกลาง เพื่อธุรกิจในอนาคต เพื่อให้ภาคธุรกิจ และกลุ่มสตาร์ตอัพ นำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ เช่น อี-คอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการแพทย์ และ 3.พัฒนาบุคลากรดิจิทัล ผลักดันเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาคน โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน จำนวน 100,000 คน ให้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
นอกจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ปี 2564 อีอีซียังมีแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยใช้ความต้องการตลาดนำ เน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการ ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ ให้สินค้าเกษตร มีคุณภาพดี ราคาสูง ให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ ประมงเพาะเลี้ยง พืชชีวภาพ พืชสมุนไพร ปศุสัตว์ เพื่อยกระดับการผลิตตรงความต้องการ เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และภายใต้แผนนี้ยังเร่งรัดการลงทุนในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกที่จะส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรในอีอีซีให้มากขึ้นภายใต้การสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
เห็นได้ว่าแต่ละกระทรวงเศรษฐกิจต่างงัดไม้เด็ดออกมาเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจไทย แต่ทว่าการดำเนินงานในครั้งนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะดันเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ต้องลุ้นว่ารัฐจะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคครั้งนี้ไปได้หรือไม่ หรือเศรษฐกิจไทยจะกลับมาดิ่งอีกครั้งคงต้องลุ้นกันต่อไป…
ทีมข่าวเศรษฐกิจ