รีเซต

โควิดทำคนฟิลิปปินส์อดอยากมากขึ้น

โควิดทำคนฟิลิปปินส์อดอยากมากขึ้น
TNN World
2 มิถุนายน 2564 ( 10:00 )
178
โควิดทำคนฟิลิปปินส์อดอยากมากขึ้น

Editor’s Pick: โควิดทำคนฟิลิปปินส์อดอยากมากขึ้น และคนก็ไม่อยากฉีดวัคซีน

 


นี่คือเรื่องราวของความขัดสน ความไม่ศรัทธาในวัคซีน และการต่อสู้เพียงเพื่อให้มีชีวิตไปได้ในแต่ละวันของชาวฟิลิปปินส์ ในภาวะโควิด-19 ครองเมือง และการล็อกดาวน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 

ลำบากซ้ำซ้อน

 


โมนา ลิซ่า วิโต้ อาศัยอยู่ในย่านบาซิโก ท่าเรือแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา เธอทำอาชีพปลอกเปลือกกระเทียม มีรายได้วันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 62 บาท ขณะที่สามีของเธอทำงานเป็นคนงานก่อสร้างรายวัน 
แต่ตอนนี้งานของพวกเขาหายไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จากการล็อกดาวน์ของรัฐบาลฟิลิปปินส์หลายครั้ง การที่เธอต้องดูแลหลายปากท้องทำให้ทุกอย่างตกอยู่ในภาวะวิกฤติ
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ชีวิตของวิโต้ และลูกหลานกว่าสิบคนก็ลำบากมากพออยู่แล้ว 
“เราไม่มีเงินจะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่มีอาหารสำหรับลูก ๆ ด้วยซ้ำ บางครั้งตอนกลางคืนเราไม่มีอะไรจะกิน เราทำได้แค่รอถึงเช้าวันรุ่งขึ้น” วิโต้กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ชุมชนที่วิโตอาศัยอยู่มีประชากรราว 60,000 คน รายงานระบุว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในเขตเมืองหลวง โดยผู้คนที่นี่พึ่งพาการค้าขายรอบ ๆ ท่าเรือ แต่เมื่อทางการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็หยุดชะงัก การจับปลาในทะเลซึ่งเป็นช่องทางยังชีพของหลายคนก็กลายเป็นเรื่องต้องห้าม
“ถ้าพวกเขาไม่จับปลา เขาก็ไม่มีอะไรจะกิน บางคนต้องกินข้าวไหม้ ๆ ผสมกับเกลือและน้ำ” นาดจา เดอ เวรา ผู้ประสานงานเครือข่ายโรงครัวชุมชนบาซีโก กล่าว

 

 

รับประทานแค่วันละมื้อ

 


วิกฤติเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีโรดิโก ดูแตร์เต บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในกรุงมะนิลาและพื้นที่โดยรอบเป็นเวลาหลายเดือน นับแต่นั้นเป็นต้นมา ความเข้มข้นและการผ่อนคลายมาตรการขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อ 

 


การประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศมีขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม และผ่อนคลายลงในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่ำกว่า 10,000 คน อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อมรายังมีมากกว่า 5,000 รายต่อวัน อันตรายจากไวรัสจึงยังมีอยู่ เช่นเดียวกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยลดลง

 


นารทจา เดอ เวรา (Nadja de Vera) เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายโรงครัวชุมชนบาซีโก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการธนาคารอาหารที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนจนทั่วประเทศ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 

 


เวรากล่าวว่า โรงครัวชุมชนจะรับบริจาควัตถุดิบจากเกษตรกร ชาวประมง และผู้มีกำลังศรัทธา จากนั้นจะแจกจ่ายสิ่งของเหล่านั้นไปยังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ 

 


เธอกล่าวต่อว่า เมื่อมีข่าวว่าโรงครัวจะมาตั้งในชุมชน ชาวบ้านนับร้อยคนต่างตั้งแถวรอตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อรอรับอาหาร แต่บางครั้งก็ต้องผิดหวังจากการที่อาหารมีไม่เพียงพอ 

 


“บางคนได้ทานอาหารเพียงวันละหนึ่งมื้อเท่านั้น” เวรากล่าว “ฉันหวังว่ารัฐบาลจะรับรู้ว่า ประชาชนพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และหวังว่ารัฐจะจัดสรรทรัพยากรไปยังผู้ที่ขาดแคลนอย่างเหมาะสมที่สุด” 

 


ขณะที่ วิโต ผู้นำของครอบครัวกว่าสิบชีวิต เล่าว่า ในช่วงที่มีการระบาด รัฐบาลแจกกล่องบรรจุอาหาร พร้อมกับเงินจำนวน 4,000 เปโซ (หรือราว 2,500 บาท) ให้กับผู้ยากไร้ เธอใช้เงินนั้นจ่ายเงินที่ติดค้างกับร้านค้า ซื้อยารักษาโรค และนำมาใช้จ่ายในครอบครัว อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าเงินดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ดังนั้น โรงครัวชุมชนจึงกลายเป็นที่พึ่งอย่างเดียวที่ครอบครัวเธอมี 

 


"ฉันรู้สึกขอบคุณ...ลูกๆ ของจะไม่หิวอีกต่อไป”

 

 


ข้อกังขาในวัคซีน

 


รัฐบาลฟิลิปปินส์รู้ดีว่าการฉีดวัคซีนให้กับประชากร เป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากวิกฤตในปัจจุบัน แต่ความพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนรับวัคซีนยังเป็นเรื่องที่ยาก

 


สำนักข่าว CNN ระบุว่า มีประชากรฟิลิปปินส์น้อยกว่า 1% จากทั้งหมด 108 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดา

 


รัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับวัคซีนทั้งสิ้น 8.2 ล้านโดส แต่ตอนนี้มีผู้เข้ารับการฉีดอย่างน้อย 1 เข็มเพียง 4 ล้านคน ชาวฟิลิปปินส์บางคนกล่าวว่า เขาจะไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนเลย 

 


จากการสำรวจของ Social Weather Stations (SWS) ในเดือนพฤษภาคม โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 1,200 คน พบว่า 68% ไม่แน่ใจ หรือไม่ต้องการรับวัคซีน ความกังวลหลัก คือ กลัวผลข้างเคียง รวมถึงการเสียชีวิตจากวัคซีน ตัวเลขดังกล่าวมีอัตราที่สูง เมื่อเทียบกับผลสำรวจของ Gallup ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกหลายพันคนใน 116 ประเทศ ซึ่งพบว่ามีคนจำนวน 32% จะไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน 

 

 


ต้นตอของความไม่เชื่อในวัคซีนจากรัฐ

 


ความไม่ไว้วางใจในวัคซีนเป็นประเด็นสำคัญในฟิลิปปินส์ ประกอบกับปัญหาของวัคซีนไข้เลือดออกในอดีต ขัดขวางความพยายามสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านโควิด-19 

 


ย้อนกลับไปในปี 2017 ฟิลิปปินส์ระงับการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกขนาดใหญ่ หลังจากผู้ผลิตยาชาวฝรั่งเศสพบว่า วัคซีนไข้เลือดออก Dengvaxia อาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่ไม่เคยติดเชื้อมีอาการรุนแรงขึ้น เป็นปัจจัยทำให้ชาวฟิลิปปินส์ ค่อนข้างคลางแคลงใจในเรื่องวัคซีน

 


รัฐบาลฟิลิปปินส์เริ่มการฉีดวัคซีนต้านโควิดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กระบวนแจกจ่ายวัคซีนเป็นไปด้วยความล่าช้า วัคซีนถูกฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุที่มีประวัติโรคประจำตัวเป็นกลุ่มแรก ๆ 

 


ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ประธานาธิบดีโรดิโก ดูเตอร์เต้ พยายามเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน โดยการเข้ารับวัคซีน Sinopharm พร้อมกับถ่ายทอดสดการฉีดวัคซีนไปทั่วประเทศ แต่กลับได้รับเสียงวิจารณ์จาก

 

สาธารณชน เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของฟิลิปปินส์ และไม่กี่วันต่อมา นายดูแตร์เตเองก็สั่งระงับการกระจายวัคซีน Sinopharm

 


ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์ยังสั่งซื้อวัคซีนจาก Sinovac, AstraZeneca, Pfizer และ Sputnik-V ซึ่งคาดว่าจะมาถึงในเดือนมิถุนายน 

 

 


รักษาโควิดด้วยขิงและน้ำผึ้ง?

 


แม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะพยายามสร้างความเชื่อต่อสาธารณะให้มั่นใจในวัคซีน แต่ ดร.ไมค์ มาราสิกัน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสาธารณสุขเมืองคิวซอน กรุงมะนิลามองว่า กลุ่มคนยากจน คือกลุ่มคนที่การสื่อสารเข้าถึงยากที่สุด 

 


เล็ทตี้ แซมโบรนา (Letty Zambrona) อดีตช่างเย็บผ้า วัย 65 ปี อาศัยอยู่ในเขตพารานาคิว (Paranaque) กรุงมะนิลา กล่าวว่า เธอจะไม่รับวัคซีนแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทั้งอายุที่มาก และมีโรคประจำตัวอย่างเบาหวานและความดันโลหิตสูง

 


“ฉันไม่อยากฉีดวัคซีน เพราะกล้วผลข้างเคียงของมัน ฉันได้ยินข่าวในทีวีบ่อย ๆ ว่า บางคนที่ฉีดมีอาการลิ่มเลือดอุดตันในสมอง” แซมโบรนากล่าว

 


อดีตช่างเย็บผ้ารายนี้กล่าวต่อว่า สามีของเธอก็รู้สึกกังวลผลข้างเคียงของวัคซีนเช่นกัน พวกเขาจึงพึ่งพาการใช้สมุนไพรโดยการใช้ขิง มะนาว และน้ำผึ้งผสมกัน 

 


อย่างไรก็ตาม รายงานทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าน้ำผึ้ง เลม่อน และขิง “ไม่สามารถรักษาอาการของโควิด-19 ได้”

 

 


เศรษฐกิจตกต่ำกับปากท้องที่หิวโหย 

 


ชาวฟิลิปปินส์ไม่เพียงแต่ต้องทนกับการระบาดของโรคเท่านั้น พวกเขายังต้องเจอกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่หนักที่สุดตั้งแต่ปี 1947 ในปี 2020 เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์หดตัวถึง 9.5% และในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังหดตัวอยู่ที่ 4.2% 

 


สำหรับบางคนแล้ว แม้แต่อาหารการกินยังเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าถึง จากการสำรวจของ Social Weather Station (SWS) ในเดือนกันยายน 2020 พบว่า ครอบครัวชาวฟิลิปปินส์กว่า 30.7% ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และมีจำนวน 8.7% ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี 
ตัวเลขที่บันทึกก่อนการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า เด็กในฟิลิปปินส์มากกว่า 3 ล้านคนมีภาวะเติบโตแคะแกร็น และเด็กจำนวน 618,000 คนเป็น “โรคขาดสารอาหารฉับพลัน” ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก 

 


“รัฐบาลกำลังหาแนวทางและวิธีการจะดำเนินบริการด้านสุขภาพและโภชนาการอย่างยั่งยืน ขณะที่กำลังปรับตัวให้เข้ากับภาวะปกติใหม่ (New normal) โดยกำหนดเป้าหมายไปยังกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดรวมถึงคนที่มีภาวะทุพโภชนาการ” โจวิตา บี. ราวาล หัวหน้า กองข้อมูลโภชนาการและการศึกษา สภาโภชนาการแห่งชาติ กล่าว
เมื่อทุกคนต้องอยู่แต่ที่บ้าน ค่าใช้จ่ายของครอบครัวย่อมเพิ่มขึ้น เกือบทุกวัน ครอบครัวของวิโตต้องแบ่งน้ำดื่ม 1 ขวดเพื่อให้พอทั้งครอบครัว และเมื่อโรงเรียนหยุดการเรียนการสอน นั่นหมายถึงครอบครัวนี้ต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตซึ่งสูงถึง 19 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 590 บาท เพื่อให้ลูก ๆ สามารถเรียนออนไลน์ได้ เงินดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนมหาศาลสำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ 

 

 


อาหารหรือการศึกษา...ตัวเลือกที่ลำบากใจ

 


วีโตต้องเผชิญตัวเลือกที่ลำบากใจระหว่าง “การเรียนของลูกๆ หรือการมีอาหาร”
“ฉันเลือกที่จะใช้เงินนั้นซื้อหาอาหาร เพื่อให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารเช้า” เธอกล่าว 

 


วันนี้วีโตกลับจากโรงครัวของชุมชน เธอได้รับถั่วเขียว ข้าวสาร และผักจำนวนหนึ่ง เธอรู้ดีว่าเธอจะต้องเก็บวัตถุดับอันน้อยนิดนี้ใช้ให้ได้ยาวนานมากที่สุด 

 


สำหรับบางครอบครัวแล้ว ความน่ากลัวของโควิด-19 เทียบไม่ได้เลยกับความหิวโหยที่นับวันมีแต่จะรุนแรงขึ้น
ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ในช่วงปลายปี 2020 มีประชากรของฟิลิปปินส์ราว 1 ใน 4 ต้องเผชิญกับความยากจน และใช้เงินประทังชีวิตเพียงวันละ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 93 บาท เท่านั้น

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง