รีเซต

อะมีบากินสมอง : สหรัฐฯ ออกคำเตือนลงเล่นแหล่งน้ำจืด หลังพบผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา

อะมีบากินสมอง : สหรัฐฯ ออกคำเตือนลงเล่นแหล่งน้ำจืด หลังพบผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา
ข่าวสด
6 กรกฎาคม 2563 ( 18:51 )
133
อะมีบากินสมอง : สหรัฐฯ ออกคำเตือนลงเล่นแหล่งน้ำจืด หลังพบผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา

 

อะมีบากินสมอง : สหรัฐฯ ออกคำเตือนลงเล่นแหล่งน้ำจืด หลังพบผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา - BBCไทย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐฟลอริดา ในสหรัฐฯ ยืนยันพบผู้ติดเชื้ออะมีบากินสมอง หรือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา ซึ่งเป็นโรคที่พบเห็นได้ยาก แต่หากติดเชื้อมักเสียชีวิตภายในหนึ่งสัปดาห์

สำนักงานสาธารณสุขรัฐฟลอริดา (DOH) ระบุว่า พบผู้ป่วยหนึ่งรายในเขตฮิลส์โบโรห์ที่ติดเชื้ออะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเหมือนอะมีบาอื่น ๆ ในธรรมชาติ โดยมักจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง หรือแหล่งน้ำขังในเขตอุตสาหกรรมและในดินเขตร้อนหรือเขตอบอุ่นเกือบทั่วโลก

A microscopic image of Naegleria fowleri Getty Images

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบาชนิดนีเกลอเรีย เป็นโรคที่พบเห็นได้ยาก แต่หากติดเชื้อมักเสียชีวิตภายในหนึ่งสัปดาห์

เชื้ออะมีบาชนิดนี้เป็นเชื้อที่ชอบอยู่อิสระมากกว่าอยู่ในคนหรือสัตว์ แต่หากเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางจมูก ก็จะทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบรุนแรงและเฉียบพลัน

DOH ไม่ได้เปิดเผยว่าการติดเชื้อรายล่าสุดเกิดขึ้นที่ใด หรือเปิดเผยถึงอาการของคนไข้รายนี้ อย่างไรก็ตาม ชี้ว่า โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา ไม่ใช่โรคระบาดที่แพร่จากคนสู่คน โดยในสหรัฐฯ มักพบผู้ติดเชื้อในรัฐทางภาคใต้ และพบได้น้อยมากในรัฐฟลอริดา โดยพบเพียง 37 ราย นับตั้งแต่ปี 1962

แต่เนื่องจากการติดเชื้ออาจรุนแรงถึงชีวิตได้ DOH จึงออกประกาศเตือนครั้งนี้ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะให้ประชาชนหลีกเลี่ยงไม่ให้จมูกสัมผัสกับน้ำประปา หรือแหล่งน้ำจืดอื่น ๆ เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ บ่อน้ำ และลำคลอง ซึ่งมักพบการติดเชื้อในช่วงฤดูร้อนในเดือน ก.ค.- ก.ย.

ข้อมูลจากเว็บไซต์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การติดเชื้อเกิดขึ้นโดย "สำลักน้ำที่มีเชื้ออะมีบานั้นเข้าจมูก" โดยการว่ายน้ำหรือดำน้ำแล้วเกิดการสำลักน้ำเข้าจมูกอย่างรุนแรง เชื้อที่ปนอยู่ในน้ำ จะผ่านเข้าทางประสาทรับรู้กลิ่นในจมูก (Olfactory nerve) และเข้าสู่สมอง ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิต ก่อนได้รับ การวินิจฉัย เนื่องจากอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเสียชีวิต ภายใน 10 วัน

Getty Images
การติดเชื้ออะมีบากินสมอง เกิดขึ้นโดย "สำลักน้ำที่มีเชื้ออะมีบานั้นเข้าจมูก"

อาการ

ผู้ติดเชื้ออะมีบาชนิดนีเกลอเรียมีอาการเหมือนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้ออื่น ๆ คือ มีไข้ ปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็งตึง แต่อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ซึมชัก ไม่รู้สึกตัว

น่ากังวลเพียงใดสำหรับคนไทย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ระบุว่า โอกาสที่คนเราจะติดเชื้ออะมีบาจนถึงขั้นสมองอักเสบ และเสียชีวิตนั้นมีน้อยมาก ดังนั้น คนไทยจึงไม่ควรตระหนก

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา มีรายงานครั้งแรกจากประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 1965 โดยทั่วโลกมีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้ราว 400-500 ราย

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค ของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในประเทศไทย มีพบผู้ป่วยน้อยมาก ตั้งแต่ พ.ศ.2526 ถึงปัจจุบัน มีรายงานจำนวน 13 ราย เกิดจากการติดเชื้ออะมีบาชนิดนีเกลอเรีย 8 ราย และเชื้ออะแคนทามีบา (Acanthamoeba spp.) 5 ราย พบผู้ป่วยที่จังหวัดศรีษะเกษ สมุทรปราการ นครปฐม ตราด สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร เสียชีวิต 12 ราย

คำแนะนำสำหรับประชาชน

เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนก ข้อแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อนี้ มีดังนี้

  • ผู้ที่มีแผลตามผิวหนัง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคตับ โรคเบาหวาน และผู้ที่ได้รับยากดภูมิต้านทานโรค ควรเลี่ยงการลงว่ายน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งน้ำที่น้ำไม่ไหลเวียนหรือน้ำขุ่นดูสกปรก ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างเลนส์ตามวิธีที่จักษุแพทย์แนะนำ
  • บุคคลทั่วไป หากว่ายน้ำหรือดำน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ควรระมัดระวังไม่ให้สำลักน้ำเข้าโพรงจมูก (ถ้าสำลักให้รีบสั่งน้ำออกแรงๆ) ในเทศกาลสงกรานต์ไม่ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดสาดเล่นกัน
  • ผู้ที่มีอาการป่วยน่าสงสัยหลังจากลงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • สำหรับสระว่ายน้ำ ควรรักษาความสะอาดตามมาตรฐานและคำแนะนำของกรมอนามัย โดยมีการตรวจวัด และเติมสารประกอบคลอรีน ให้มีปริมาณคลอรีนตกค้างอิสระ 1-2 มิลลิกรัมต่อลิตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง