รีเซต

“อัยการธนกฤต”ชี้มติศาลปกครองสูงสุดคดีโฮปเวลล์ขัดรธน. ถ้าพิจารณาใหม่ มีลุ้นรัฐไม่ต้องจ่ายเงิน

“อัยการธนกฤต”ชี้มติศาลปกครองสูงสุดคดีโฮปเวลล์ขัดรธน. ถ้าพิจารณาใหม่ มีลุ้นรัฐไม่ต้องจ่ายเงิน
มติชน
21 มีนาคม 2564 ( 11:18 )
101

“อัยการธนกฤต”ผอ.นิติวัชร์ ชี้มติศาลปกครองสูงสุดขัดรธน. ทำให้วันเริ่มต้นนับเวลายื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตเปลี่ยนจากเดิม เผย หากศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ ถ้ายุติว่าโฮปเวลล์ยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตเกิน 5 ปี นับแต่วันรู้เหตุ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนปฏิเสธบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโต รัฐไม่ต้องจ่ายเงิน

 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมาย ในประเด็น ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีโฮปเวลล์ ความว่า

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 มีสาระสำคัญว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 44 แต่ไม่ได้นำระเบียบไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ มาตรา 5 และไม่ได้ส่งระเบียบนี้ไปให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบตามกระบวนการและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ศาลต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม และมาตรา 197 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้วิธีพิจารณาคดี และการดำเนินงานของศาลปกครองให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

 

ซึ่งในเรื่องนี้ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมาย เรื่อง ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีโฮปเวลล์ที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในปี 2551 ด้วยการจ่ายเงินให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมดอกเบี้ย เป็นเงินรวมกันประมาณ 25,000 ล้านบาท ดังนี้

1. มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดขัดรัฐธรรมนูญ จึงนับระยะเวลาที่โฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 ไม่ได้

 

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองดังกล่าว เป็นระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงทำให้มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ และ จึงทำให้ไม่สามารถนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง รวมทั้งระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ ตามระเบียบดังกล่าวได้

 

ดังนั้น การนับระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่ออนุญาโตตุลาการ จึงไม่สามารถเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 ตามที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้ในคดีนี้ได้ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ

2. เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการต้องทำภายใน 5 ปี นับจากวันรู้เหตุเสนอข้อพิพาท โฮปเวลล์เสนอข้อพิพาท 24 พฤศจิกายน 2547 เกิน 5 ปี หากนับจาก 30 มกราคม 2541 วันได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา

 

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ มาตรา 51 กำหนดให้การฟ้องคดีรวมทั้งการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการต้องกระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เมื่อไม่สามารถนับระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 ได้ การที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 อาจจะเป็นการเสนอข้อพิพาทที่เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย คือ เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีได้

 

ทั้งนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี นับจากวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ มาตรา 51 โดยถือเอาวันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เป็นวันที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นและเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาท ระยะเวลา 5 ปี จึงต้องเริ่มนับจากวันที่ 30 มกราคม 2541 และครบกำหนดในวันที่ 30 มกราคม 2546 เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จึงเกินระยะเวลา 5 ปี ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ มาตรา 51 ดังกล่าว

 

3. หนทางสู่การพิจารณาคดีใหม่
เรื่องระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่ออนุญาโตตุลาการ ว่าได้เสนอข้อพิพาทภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นประเด็นที่อาจนำไปสู่การพิจารณาคดีใหม่ของศาลปกครองสูงสุดได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) ที่กำหนดว่า กรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียอาจขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้ ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นอำนาจดุลพินิจของศาลปกครองที่จะพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การขอให้พิจารณาคดีใหม่หรือไม่

 

โดยการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ต้องทำภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด

 

4. ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ หากยุติว่า โฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เกิน 5 ปี อนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาท ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนและปฏิเสธบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ รัฐไม่ต้องจ่ายเงิน

ถ้าหากศาลปกครองอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีใหม่ และมีการนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่ออนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา และถือเป็นวันที่ข้อพิพาทเกิดขึ้นและเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทดังที่กล่าวไป หรือตั้งแต่วันอื่นใด อันจะทำให้การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 เกินกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ มาตรา 51

 

หากข้อเท็จจริงยุติเช่นนี้ ศาลปกครองมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่า คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นเสนอไว้เพื่อพิจารณาได้ และการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีคำพิพากษาให้เพิกถอนและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40 วรรค 3 (2) (ข) และมาตรา 44 ซึ่งจะทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง