รีเซต

ผอ.นิติวัชร์อัยการ แนะกำหนดแผนเฝ้าระวังคุมโควิดเเต่ละจังหวัดเป็นทิศทางเดียวกัน

ผอ.นิติวัชร์อัยการ แนะกำหนดแผนเฝ้าระวังคุมโควิดเเต่ละจังหวัดเป็นทิศทางเดียวกัน
มติชน
2 มกราคม 2564 ( 17:13 )
50
ผอ.นิติวัชร์อัยการ แนะกำหนดแผนเฝ้าระวังคุมโควิดเเต่ละจังหวัดเป็นทิศทางเดียวกัน

“ธนกฤต”ผอ.นิติวัชร์อัยการ แนะควรกำหนดแผนเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโควิด-19 ของเเต่ละจังหวัดเป็นแนวทิศทางเดียวกัน ยกบางจังหวัดเข้มงวดมาก บางจังหวัดเข้มงวดน้อย ทั้งที่อยู่ในโซนสีแดงเหมือนกัน

 

เมื่อวันที่ 2 มกราคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นกฎหมายข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. โรคติดต่อ ความว่าแผนป้องกันและควบคุมโควิด-19 ของจังหวัดต่าง ๆ ควรเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

 

ตามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้นและการแพร่ระบาดของโรคลุกลามไปในวงกว้างเกือบจะตลอดทั้งประเทศในขณะนี้ โดยเฉพาะมีผู้ติดเชื้อในลักษณะเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ ที่ไม่สามารถบอกรายละเอียดของการสอบสวนโรคได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาจาก ที่ใด ทำให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จะพบว่า ถึงแม้ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 22 และมาตรา 28 จะให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครในการจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย แต่ไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ ที่กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะต้องกำหนดแผนปฏิบัติการ ทิศทาง และแนวทาง ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีความรุนแรงและสามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปในแนวทางและทิศทางเดียวกันด้วย

 

ทำให้พบว่าการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในจังหวัดต่าง ๆ และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในบางครั้งมีลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินการ แต่ละจังหวัดก็จะกำหนดแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอาจจะไม่ได้มีการประสานการทำงานป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปในแนวทางและทิศทางเดียวกันกับจังหวัดอื่น ๆ ด้วย และในหลาย ๆ จังหวัดก็ดำเนินมาตรการในการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่แตกต่างกัน ทั้งที่เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว และประชาชนมีการเดินทางข้ามจังหวัดไปมาในระหว่างจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศด้วย ทำให้ยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคได้มากขึ้น

 

อย่างเช่น จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (โซนสีแดง) ซึ่งในขณะนี้มีทั้งสิ้น 28 จังหวัด บางจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร ก็มีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวด แต่บางจังหวัดที่อยู่ในโซนสีแดงเหมือนกัน กลับใช้มาตรการที่เข้มงวดน้อยกว่า ทั้งที่อยู่ในโซนสีแดงเช่นเดียวกันและความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคไม่ได้แตกต่างกัน

 

ดังนั้น การกำหนดแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นไปในแนวทางและทิศทางเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

นอกจากนี้ ตามที่ในขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการของร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จึงควรมีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ โดยกำหนดมาตรการบังคับให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ต้องกำหนดแผนปฏิบัติการในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีความรุนแรงและสามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว เช่นโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้เป็นไปในแนวทางและทิศทางเดียวกัน ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง