รีเซต

ส.อ.ท.ชี้ไม่มีใครกล้ารับตำแหน่งหัวหน้าทีมศก. แนะ"บิ๊กตู่"เคลียร์ทางให้อำนาจสั่งการ

ส.อ.ท.ชี้ไม่มีใครกล้ารับตำแหน่งหัวหน้าทีมศก. แนะ"บิ๊กตู่"เคลียร์ทางให้อำนาจสั่งการ
มติชน
19 กรกฎาคม 2563 ( 17:21 )
82
1
ส.อ.ท.ชี้ไม่มีใครกล้ารับตำแหน่งหัวหน้าทีมศก. แนะ"บิ๊กตู่"เคลียร์ทางให้อำนาจสั่งการ

ส.อ.ท.ชี้ไม่มีใครกล้ารับตำแหน่งหัวหน้าทีมศก.เพราะกังวลเรื่องประสานงานพรรคร่วมมากกว่างานที่รอตรงหน้า แนะ”บิ๊กตู่”เคลียร์ทางให้อำนาจสั่งการ ชี้”ปรีดี”เหมาะสมนั่งรมว.คลัง ห่วงเอสเอ็มอีฟุบหนัก-งบฟื้นฟูอืดช่วงสูญญากาศ วอนรบ.ออกเครื่องมือช่วยชั่วคราวช่วงปรับครม.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุจะปรับช่วงเดือนสิงหาคม และปัจจุบันอยู่ระหว่างทาบทามบุคคลมารับตำแหน่งในทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ว่า จากการติดตามคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่าได้มีการทาบทาม นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย และนายปรีดี อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ขณะที่ชื่อ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ค่อนข้างนิ่ง ไม่เปลี่ยน ขณะที่ชื่อบุคคลอื่นยังไม่มีเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายกำลังจับจ้องว่าจะมีใครถูกทาบทามอีกหรือไม่ และจะตอบตกลง หรือปฏิเสธ ซึ่งในมุมของเอกชนอยากให้บุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งเป็นคนเก่ง มีความสามารถ มีประสบการณ์

“เพราะเวลานี้ถือเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างอึมครึม รอการเปลี่ยนแปลง และทุกคนต่างเฝ้ารอโฉมหน้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ แทนทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ 4 กุมารที่ลาออกไป”นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับนายปรีดี หากรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภาคเอกชนเชื่อในฝีมือ เพราะเป็นบุคคลที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว เพราะปรีดีเป็นประธานสมาคมธนาคารไทยที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการ่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย ส.อ.ท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงเห็นภาพการทำงานด้านเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างดี มีการแลกเปลี่ยนกับภาคเอกชนตลอด รับทราบปัญหา ข้อเสนอแนะของภาคเอกชนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบ และแม้จะจบทางด้านกฎหมายแต่ในภาพการทำงานจะมีผู้ช่วย มีทีมงานอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่างานจะมีความราบรื่นแน่นอน เพราะในการตั้งทีมเศรษฐกิจชุดใหม่นี้สิ่งที่จำเป็น สำคัญที่สุดคือ ต้องทำงานเป็นทีม

นายเกรียงไกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าจะได้ใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายกำลังจับจ้องอย่างมากคือ ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตำแหน่งนี้ต้องเป็นบุคคลที่มีบารมี เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะไม่เพียงการคุมกระทรวงการคลัง แต่ต้องสามารถคุมกระทรวงเศรษฐกิจอื่นๆด้วย ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งกระทรวงเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของพรรคร่วม ดังนั้นสิ่งที่เอกชนกังวลคือจะสามารถบูรณาการกับพรรคร่วม เพื่อเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจให้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนเก่ง คนดีอยู่จำนวนมาก แต่เชื่อว่าสาเหตุที่ขณะนี้ยังไม่มีใครตอบรับร่วมทีม โดยเฉพาะตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพราะสาเหตุที่ต้องคุมพรรคร่วมให้ได้ ซึ่งยากมาก ยากกว่าโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รอตรงหน้า เพราะในมุมของเศรษฐกิจมีเครื่องมือหลักที่ช่วยผลักดันคือภาคการส่งออก ภาคการบริการ หากต่างประเทศสถานการณ์ปกติ แก้ปัญหาโควิด-19 ได้ โจทย์นี้ก็เบาลง เหลือการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ กระตุ้นกำลังซื้อ กระตุ้นการจ้างงาน

“ดังนั้นอยากฝากถึงพล.อ.ประยุทธ์ ว่าหากอยากให้คนเก่ง คนดี ตัดสินใจรับตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และหรือตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจอื่น นายกรัฐมนตรีจะต้องแก้ปัญหาตรงนี้ ต้องให้อำนาจหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในสามารถบูรณาการทำงานได้ ปัจจุบันไม่ใช่ว่ากระทรวงเศรษฐกิจของพรรคร่วมทำงานไม่ดี ในมุมของเอกชนถือว่าทำได้ดี แต่เป็นลักษณะต่างตนต่างทำ ทำให้บางนโยบายสะดุดตรง เสียโอกาสในการผลักดันเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากเวลานี้”นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ประเมินเวลาจากไทม์ไลน์ของนายกรัฐมนตีที่ระบุว่าจะปรับครม.ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ทำให้เอกชนเริ่มเป็นกังวลต่อการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่านงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้าน ที่ผ่านการอนุมัติจากครม.แล้ววงเงินก้อนแรกเพียง 1.5 หมื่นล้านจากเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ซึ่งเอกชนเข้าใจถึงขั้นตอนการพิจารณาโครงการให้เกิดความโปร่งใส แต่ผลจากแนวโน้มปรับครม.ครั้งนี้อาจทำให้นโยบายนี้ต้องรอการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับนโยบายการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เอสเอ็มอี 3 ล้านรายทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาและอาจล้มเป็นสึนามิทางเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมรัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือ อาทิ มาตรการยืดหนี้ให้เอสเอ็มอี การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี การปรับครม.ที่ต้องรอถึงเดือนสิงหาคมจะทำให้เอสเอ็มอีเสียโอกาส

“ช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือนจากนี้ จะเป็นช่วงที่เสียโอกาสในการทำงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ดังนั้นอยากให้รัฐบาลหากลไกเข้ามาดูแลชั่วคราว เพื่อให้มั่นใจว่าการขับเคลื่อนแผนต่างๆที่รัฐบาลวางไว้เดินหน้าต่อ ไม่เกิดภาวะสูญญากาศ”นายเกรียงไกรกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง