รีเซต

‘อุตตม’นัดแถลงเยียวยาโควิด-19 วันนี้ ยันพร้อมกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจ

‘อุตตม’นัดแถลงเยียวยาโควิด-19 วันนี้ ยันพร้อมกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจ
มติชน
26 มีนาคม 2563 ( 04:59 )
171
2
‘อุตตม’นัดแถลงเยียวยาโควิด-19 วันนี้ ยันพร้อมกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายว่า ในวันที่ 26 มีนาคม 263เวลา 15.00 น.กระทรวงการคลังจะเปิดชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงขั้นตอนลงทะเบียนการรับเงินเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจและสามารถลงทะเบียนได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ กำหนดการลงทะเบียนดำเนินการผ่าน www. เราจะไม่ทิ้งกัน.com หรือ ผ่านสาขาของธนาคารรัฐ คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และ ธนาคารกรุงไทย โดยระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 8.00 น.วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม นี้

นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียนต้องเป็น แรงงานนอกระบบประกันสังคมที่ประกอบอาชีพอิสระ และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะได้รับเงินเดือนรวม 1.5 หมื่นบาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยหลังจากลงทะเบียนแล้วจะได้รับเงินภายใน 7 วัน หากต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม จะใช้เวลานานกว่านั้น รัฐบาลกำหนดเป้าหมายเบื้องต้น 3 ล้านคน หากมีผู้ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าที่คาดการณ์จำนวน 3 ล้านคน รัฐบาลพร้อมพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดูแลให้ครอบคลุม

“ตั้งงบกลางเพื่อมาเยียวยาผู้ตกงานเกือบ 5 หมื่นล้านบาท หากงบประมาณที่ใช้จ่ายดังกล่าวไม่เพียงพอ การกู้เงินก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของรัฐบาล เพื่อนำมาใช้จ่าย  อย่างไรก็ตาม ครม.มีมติไปแล้วในเรื่องการปรับงบประมาณ ปี 2563 ว่าให้สำนักงบประมาณไปจัดการกับงบประมาณของบางหน่วยงานที่ใช้จ่ายไม่ทันในปีงบประมาณนี้ให้นำงบดังกล่าวกลับมากองรวมกัน เพื่อให้รัฐบาลนำมาใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินนี้ ดังนั้นจะมีเงินมาช่วยอีกก้อนหนึ่ง”นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับในรายที่ต้องการเพิ่มเติมจากที่ให้ลงทะเบียน สามารถขอสินเชื่อฉุกเฉินจากแบงก์รัฐ รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน กรณีต้องการมากกว่านั้น จะให้วงเงินสูงถึง 5 หมื่นบาท แต่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือบุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย 0.35%ต่อเดือน ส่วนผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปีใน 2 ปีแรก ไ​ด้ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับการเลื่อนการชำระภาษีออกไปตามมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น เลื่อนการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต),ธุรกิจเฉพาะ,ภาษีนิติบุคคล และภาษีสรรพสามิต รวมถึงการยกเว้นภาษีนำเข้า สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโควิด-19 จะทำให้ผู้ประกอบการ ไม่ต้องนำส่งภาษีให้รัฐราว 2 แสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง