รีเซต

ทะเลจีนใต้ร้อนระอุ เรือรบนานาชาติ เข้าสู่น่านน้ำอินโด-แปซิฟิก ซ้อมรบใหญ่ในรอบ 40 ปี

ทะเลจีนใต้ร้อนระอุ เรือรบนานาชาติ เข้าสู่น่านน้ำอินโด-แปซิฟิก ซ้อมรบใหญ่ในรอบ 40 ปี
TNN World
9 สิงหาคม 2564 ( 10:17 )
255

Editor’s Pick: 'โลกขยาดเมื่อมหาอำนาจขยับ' ทะเลจีนใต้ร้อนระอุ เรือรบนานาชาติเบนเข็มเข้าสู่น่านน้ำอินโด-แปซิฟิก ซ้อมรบใหญ่ในรอบ 40 ปี 

 


ยุทโธปกรณ์ที่มีศักยภาพสูงอันดับต้น ๆ ของโลก อาทิ เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำ และอาจรวมถึงขีปนาวุธทำลายเรือรบ สรรพกำลังเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กองทัพต่าง ๆ จัดเตรียมมาเพื่อใช้ในการซ้อมรบบริเวณทะเลจีนใต้ในเร็ว ๆ นี้

 


มหาอำนาจขยับ โลกสะเทือน


ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเลในพื้นที่ดังกล่าว ล้วนเป็นมหาอำนาจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร และมิตรประเทศอื่น ๆ

 


สหรัฐฯ ต้องการการสนับสนุนจากบรรดาพันธมิตร เพื่อพัฒนาขีดความสามารถปฏิบัติการร่วมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่จีนต้องการยืนยันอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ รวมถึงช่องแคบไต้หวันที่กำลังมีข้อพิพาท

 


ทำเนียบขาวยืนยันว่า พวกเขาพยายามปกป้องความมั่นคงในภูมิภาคด้วยการต่อต้านการอ้างสิทธิของจีน แต่รัฐบาลจีนกล่าวว่า การส่งเรือรบไปยังน่านน้ำพิพาทเป็นการยั่วยุอย่างรุนแรง

 

 


ความขัดแย้งควบคุมได้ หากมืออาชีพพอ 


ชารีมาน ล็อคแมน นักวิเคราะห์จากสถาบันกลยุทธ์และสากลศึกษา ( Institute of Strategic and International Studies) ในมาเลเซียกล่าวว่า “ทั้งสหรัฐฯ และจีนกำลังซักซ้อม เพื่อรับมือการปรากฏตัวของฝ่ายตรงข้ามในบริเวณทะเลจีนใต้...และตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยังคงความเป็นมืออาชีพ ความขัดแย้งก็ยังควบคุมได้”

 


ทั้งนี้ ล็อคแมนเสริมว่า “แต่ละฝ่ายกำลังแสดงความตั้งใจในการรักษาสิทธิเหนือพื้นที่ของตน บางครั้งสิ่งนี้อาจเป็นดาบสองคมสำหรับประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากความตึงเครียดอาจปะทุขึ้นเป็นครั้งคราว และกลุ่มประเทศที่กำลังมีข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ไม่ต้องกลัวผิดหวัง เพราะการปรากฏตัวของฝ่ายหนึ่งทำให้อีกฝ่ายต้องรักษาสัจจะกับมิตรประเทศ”

 

 


'เป็นความตั้งใจแสดงอำนาจของแต่ละฝ่าย'


ด้านโคลลิน โกะห์ นักวิจัยจากสถาบันสากลศึกษาเอส ราชรัตนาม (S Rajaratnam School of International Studies) ที่มหาวิทยาลัย Nanyang Technological ของสิงคโปร์ กล่าวว่า กิจกรรมทางทหารที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ “เด่นชัดอย่างไม่มีที่ติ” แต่ยังมีความเสี่ยงต่ำ

 


“ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นช่วงล่าสุด ดูเหมือนจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และดำเนินไปอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น” เขากล่าว 

 


“คู่ต่อสู้จะจัดการฝึกซ้อมในรูปแบบการตอบโต้ เพื่อส่งสัญญาณทางการเมือง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะข้ามเส้นเพื่อข่มขู่ หรือจะใช้กำลังเกินควร”

 


กองกำลังที่เป็นขั้วตรงข้าม อาจจับตาดูกิจกรรมของอีกฝ่ายอย่างใกล้ชิด แต่โดยทั่วไปการปฏิบัติการของพวกเขา “ดำเนินการในระยะห่างที่ปลอดภัยและเป็นมืออาชีพ” โกะห์ กล่าวสรุป

 

 


การฝึกซ้อมร่วมที่ต่อเนื่องและเข้มข้น


เดือนนี้ กิจกรรมต่าง ๆ เริ่มด้วยการสิ้นสุดของการซ้อมรบทางน้ำ ‘Talisman Sabre’ เมื่อวันอาทิตย์ (1 สิงหาคม) นอกชายฝั่งออสเตรเลีย เป็นการฝึกซ้อมรบต่าง ๆ เช่น ยกพลขึ้นพื้นที่ชายหาดแบบสะเทินน้ำสะเทินบก ฝึกยิง และซ้อมใช้เครือข่ายสื่อสารจากอวกาศและกำหนดเป้าหมายผ่านดาวเทียม


รวม ๆ แล้วการซ้อมรบนี้มีกำลังพล 17,000 คนจาก 7 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เข้าร่วม

 

 


รวมกำลังครั้งแรกในรอบสี่ทศวรรษ


ทั้งนี้ กองบัญชาการแห่งอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ กำลังเตรียมฝึกซ้อมกำลังพลในระดับนานาชาติ ซึ่งจะเริ่มในวันจันทร์ (9 สิงหาคม) และจะเริ่มปฎิบัติการจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม

 


การฝึกซ้อมของเหล่าประเทศซึ่งครอบคลุมเขตเส้นแบ่งเวลา 17 เขตที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือเป็นการฝึกซ้อมครั้งแรกในรอบ 40 ปีโดยกองทหารออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อที่จะ "พัฒนาการทำงานร่วมกัน เพิ่มความไว้วางใจ และความเข้าใจเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงได้ดียิ่งขึ้น” 

 

 

 

พญามังกรเปิดไซโลขีปนาวุธ


ในขณะเดียวกัน กองทัพปลดแอกประชาชนของจีนก็ยังคงปฏิบัติการฝึกซ้อมในทะเลจีนใต้ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ (7สิงหาคม) ถึงวันอังคาร (10 สิงหาคม) ตามประกาศของสำนักงานบริหารความมั่นคงทางทะเลของจีน

 


รายละเอียดของการฝึกซ้อมส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับการเปิดเผย แต่นักวิเคราะห์ทางทหารกล่าวว่า พื้นที่สำหรับการฝึกซ้อม ใหญ่พอที่กองกำลังขีปนาวุธของกองทัพจีนจะเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งการทดสอบขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ “อาจเป็นไปได้”

 


หนังสือพิมพ์ Global Times ของรัฐบาลจีน กล่าวในบทบรรณาธิการเมื่อวันพฤหัสบดี (5 สิงหาคม) ว่า การซ้อมรบของจีนเป็นการตอบสนองต่อการซ้อมรบในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของกองทัพสหรัฐฯ และกล่าวว่าทำเนียบขาวคำนวณผิดถนัด ที่พยายามจะ “ทำให้จีนและรัสเซียตกตะลึงด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อ”

 

 


กลุ่มชาติ G7 และกลุ่ม QUAD เตรียมเคลื่อนไหว


นอกจากนี้ อินเดียยังส่งเรือรบ 4 ลำไปยังทะเลจีนใต้ เพื่อประจำการเป็นเวลา 2 เดือน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึง “การเข้าถึงปฏิบัติการ การแสดงตนอย่างสันติ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประเทศที่เป็นมิตร”

 


เรือรบดังกล่าวจะเข้าร่วมการฝึกซ้อมในระดับทวิภาคีกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ก่อนการฝึก ‘Malabar’ ประจำปีกับรัฐสมาชิกกลุ่ม QUAD คือสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

 


ขณะเดียวกัน เรือรบ Bayern จากเยอรมนี ออกเดินทางไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกในสัปดาห์นี้ โดยจะไปเยือนเกาะกวม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์ คาดว่าจะข้ามทะเลจีนใต้ที่อยู่ระหว่างข้อพิพาทในการเดินทางกลับเดือนธันวาคม แต่เยอรมันถูกปฏิเสธคำร้องขอเทียบท่าเรือที่เซี่ยงไฮ้ เนื่องจากรัฐบาลจีนขอให้เยอรมนีชี้แจงเจตนารมณ์การแวะเทียบท่านี้

 

 


ซักซ้อมเพื่อความเป็นหนึ่ง


โกะห์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Nanyang Technological กล่าวว่า สำหรับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรแล้ว การฝึกซ้อมรบร่วมกัน ช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกองกำลังต่าง ๆ ได้

 


“ที่การฝึก Talisman Sabre กองทัพเรือชาติต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ปกติไม่ได้รวมตัวกัน มีโอกาสได้ฝึกซ้อมร่วมในสถานการณ์ทางทะเลและอากาศอย่างเข้มข้น และยังได้ฝึกซ้อมต่อต้านอากาศยานและต่อต้านเรือดำน้ำร่วมกัน" โกะห์ ระบุ

 

 

 

ทะเลจีนใต้อาจเป็นเชื้อไฟสงคราม 


แต่ก็ยังมีความกังวลมากขึ้นว่าทะเลจีนใต้อาจเป็นเชื้อไฟระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ของสองชาติเป็นไปอย่างเข้มข้น 

 


แบรด กลอสเซอร์แมน ศาสตราจารย์รับเชิญที่ Center for Rule Making Strategies ที่มหาวิทยาลัย Tama ในญี่ปุ่น ระบุว่า "กองกำลังจำนวนมหาศาลในอากาศและในน้ำเหล่านี้ เพิ่มโอกาสในการเกิดเหตุไม่พึงประสงค์อย่างมาก"

 


ศ. กลอสเซอร์แมน กล่าวว่า การซ้อมรบของสหรัฐฯ กำลังส่งข้อความว่าแดนแห่งพญาอินทรี กำลังยืนยันการเป็นตัวแทนของ 'พันธมิตรแห่งกองกำลัง' ทั้งเพื่อชี้ชัดว่าสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ในการปกป้องชาติสมาชิกต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอีกด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง