รีเซต

คิดเห็นแชร์ : มีไฟฟ้าใช้แบบไหน ถึงจะเรียกว่า‘ไม่มี’ โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

คิดเห็นแชร์ : มีไฟฟ้าใช้แบบไหน ถึงจะเรียกว่า‘ไม่มี’ โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
มติชน
12 กันยายน 2563 ( 16:05 )
110
คิดเห็นแชร์ : มีไฟฟ้าใช้แบบไหน ถึงจะเรียกว่า‘ไม่มี’ โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

คิดเห็นแชร์ : มีไฟฟ้าใช้แบบไหน ถึงจะเรียกว่า‘ไม่มี’ โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

 

จะขอเล่าต่อนะครับเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมให้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล แต่วันนี้จะขอเล่าให้ฟังว่าการที่ “มี” หรือ “ไม่มี” ไฟฟ้าใช้นั้นเขาวัดกันอย่างไร เพราะว่ามิใช่เพียงแค่ “มี” หรือ “ไม่มี” แบบข้อสอบถูกหรือผิดเท่านั้นนะครับ เพราะในหลายกรณีถึงแม้ว่าจะมีไฟฟ้าใช้ (บ้าง) แต่ก็ไม่อาจจะเพียงพอ หรือตก-ดับบ่อย ซึ่งแบบนี้ตามมาตรฐานสากลนับว่า “ไม่มี” ไฟฟ้าใช้นะครับ

เมื่อ 3 ปีที่แล้วทาง ธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกรายงานฉบับหนึ่งชื่อว่า “Beyond Connection : Energy Access Redefined” ได้มีการศึกษา และกำหนดมาตรฐานใหม่เกี่ยวกับวิธีการคำนวณและคำนิยามว่า ชุมชนแบบไหนที่ให้นับว่า “ไม่มีไฟฟ้าใช้” เพราะการลดจำนวนชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้กลายเป็น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์แห่งความพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goal (SDG) ที่มีเป้า 17 ข้อ และ

ข้อที่ว่าด้วยการลดจำนวนชุมชนไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นเป้าหมาย หมายเลข 7 หรือ SDG 7 ครับ

ในรายงานฉบับนี้พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยวัดจากกิจการด้านพลังงานในระดับชุมชนทั้งครัวเรือนและหมู่บ้าน โดยดูทั้งเรื่องการใช้ไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงเพื่อการหุงหาอาหาร (เช่น ใช้ฟืน ถ่านไม้ และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น) ด้วย

แต่ผมจะขอนำเฉพาะส่วนเรื่องไฟฟ้ามานำเสนอนะครับ เพราะว่าการใช้พลังงานในการหุงหาอาหารของคนไทยและครัวแบบไทย ไม่มีปัญหาใดๆ เลย เรามีปริมาณฟืน ถ่านไม้และก๊าซหุงต้มเพียงพอ และเข้าถึงได้ง่ายมาก

สำหรับมาตรฐานและวิธีการวัดของธนาคารโลก ในเรื่องชุมชนไม่มีไฟฟ้าใช้นั้น ได้ข้อสรุปว่าจะใช้ 7 มิติ ในการวัด และแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม (Tier 0 ถึง 5) โดยกลุ่ม Tier 4 และ 5 นั้น ถือได้ว่าเป็นบ้านที่มีฟ้าใช้แล้ว และอาจจะไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไรมากนัก แต่สำหรับกลุ่ม Tier 0, 1, 2 และ 3 จะต้องมีการช่วยเหลือหรือยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

สำหรับ 7 มิติ ที่ใช้วัดประกอบด้วย
1.ปริมาณไฟฟ้าขั้นต่ำที่ใช้ในแต่ละบ้าน
2.ระยะเวลาที่มีไฟฟ้าใช้
3.ความน่าเชื่อถือของระบบ โดยดูจากจำนวนครั้งที่มีไฟฟ้าตก-ดับ ใน 1 สัปดาห์
4.คุณภาพไฟฟ้า ดูจากแรงดันไฟฟ้าที่คงที่หรือไม่ หรือมีกรณีที่แรงดันไฟฟ้าแกว่งขึ้นๆ ลงๆ จนทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เสียหาย
5.ราคาค่าไฟฟ้าเทียบกับรายได้ของชุมชน
6.สถานะการให้บริการ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การมีองค์กรที่จัดเก็บค่าไฟอย่างถูกต้อง
7.สถิติการเกิดอุบัติเหตุ

 

โดยมิติที่ 1 (ปริมาณไฟฟ้าขั้นต่ำที่ใช้) และมิติที่ 2 (เวลาที่มีไฟฟ้าใช้) ถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญมาก ที่เป็นตัวชี้วัดระหว่างกลุ่ม Tier 1 ถึง 5

 

กลุ่ม Tier 1 นั้น จะมีการใช้ไฟฟ้าขั้นต่ำประมาณ 3 วัตต์ แต่ไม่เกิน 50 วัตต์ หรือคิดเป็นปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ประมาณ 0.012 ถึง 0.2 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อวัน และเวลาที่มีไฟฟ้าใช้ต่ำสุด 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 8 ชั่วโมง

กลุ่ม Tier 2 นั้น จะมีการใช้ไฟฟ้าขั้นต่ำประมาณ 50-200 วัตต์ หรือคิดเป็นปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ประมาณ 0.2 ถึง 1.0 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเวลาที่มีไฟฟ้าใช้คือ 4-8 ชั่วโมง เหมือนกลุ่ม Tier 1

กลุ่ม Tier 3 นั้น จะมีการใช้ไฟฟ้าขั้นต่ำประมาณ 200-800 วัตต์ หรือ คิดเป็นหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ประมาณ 1.0-3.4 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อวัน และมีไฟฟ้าใช้ได้นาน 8-16 ชั่วโมงต่อวัน

ส่วน กลุ่ม Tier 4 และ 5 นั้น จะขอให้อ่านรายละเอียดในตารางดังแนบนะครับ สำหรับกลุ่ม Tier 0 ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เลยจริงๆ หรือมีไฟฟ้าใช้น้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันนั้น ในโลกน่าจะมีประชากรในกลุ่มนี้น้อยมากๆ

 

จริงๆ อาจจะเฉพาะกลุ่มที่อาศัยตามขอบชายแดน กลุ่มชาติพันธุ์ คนป่า อะไรทำนองนี้

สำหรับพวกเราๆ ท่านๆ ที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่คุณภาพการใช้ไฟฟ้าดีกว่า Tier 5 ทั้งนั้น (แปลว่า มีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องเพียงพอตลอดเวลา) แต่ในโลกนี้ยังมีคนร่วม 789 ล้านคน ที่ยังอยู่ในกลุ่ม Tier 0-5 ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเพื่อช่วยเหลือให้เขาเหล่านั้นมีไฟฟ้าที่มีคุณภาพใช้ เพื่อการดำรงชีวิตและใช้ทำงานประกอบอาชีพต่อไป

ส่วนว่าวิธีการระดมทุนจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ขอมาเล่าในคราวต่อไปนะครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง