'เฉลิมชัย' สั่งลุย ดันกุ้งแช่แข็งไทยไปตลาดจีนเพิ่ม ใช้โอกาสระงับนำเข้าจากเอกวาดอร์หลังเจอเชื้อโควิด-19
‘เฉลิมชัย’ สั่งลุย ดันกุ้งแช่แข็งไทยไปตลาดจีนเพิ่ม ใช้โอกาสระงับนำเข้าจากเอกวาดอร์หลังเจอเชื้อโควิด-19
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย โดยเฉพาะจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 จนถึงขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดเป็นนโยบายสำคัญมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ และจากกรณีที่ได้มีรายงานข่าวว่า ประเทศจีนได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์และผนังด้านในของตู้บรรจุกุ้งแช่แข็งที่นำเข้ามาจากประเทศเอกวาดอร์ อีกทั้งสำนักงานศุลกากรของจีน ได้ประกาศผ่านทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ ว่าจะดำเนินมาตรระงับการนำเข้ากุ้งแช่แข็ง รวมถึงเนื้อสัตว์จากอีก 23 บริษัทด้วย ตนมองว่าเป็นปัจจัยบวกในการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเพื่อส่งกุ้งแช่แข็งไปทดแทน เพราะในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนมีการนำเข้ากุ้งแช่แข็งจากเอกวาดอร์ถึง 30,000 ตัน ดังนั้นจึงมอบหมายและกำชับให้กรมประมงได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเจรจาเพื่อส่งกุ้งแช่แข็งเข้าไปยังประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น
“ไทยคือประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรายใหญ่ของโลกที่มีศักยภาพและความพร้อม โดยเฉพาะด้านการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่มีการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ดี ทำให้มีความเสี่ยงในการเรื่องของการพบการติดเชื้อโควิด-19 น้อยมาก จึงมั่นใจว่า จะสามารถผลักดันให้เกิดการส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน และนำมาซึ่งประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกุ้ง อันเป็นเป้าหมายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ทุ่มเทดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง” นายเฉลิมชัยกล่าว
ด้านนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เพื่อสร้างความมั่นให้กับประเทศคู่ค้าต่างๆที่นำเข้ากุ้งแช่แข็งจากประเทศไทย ถึงการเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ในระดับดี ดังนั้นกรมประมงจึงกำหนดมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการเดิมที่ปฏิบัติอยู่แล้ว คือ การกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องมีใบรับรองสุขอนามัย หรือ Health certificate กำกับสินค้าประกอบการส่งออกกุ้งแช่แข็ง ถือว่าเป็นโครงการนำร่อง ก่อนขยายผลดำเนินการในสินค้าสัตว์น้ำทุกประเภท ขณะนี้ได้มีการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ส่งออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายได้เห็นชอบและยินดีที่จะร่วมดำเนินการ เพราะจะเป็นใบรับรองให้ประเทศคู่ค้าได้รับทราบว่า ตลอดห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของประเทศไทยนั้น มีความปลอดภัย ด้วยโปรแกรมการตรวจสอบที่เข้มข้นเพื่อป้องกันการปนเปื้อนต่าง ๆรวมถึงเชื้อโควิด-19 ทำให้ได้
สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ประเทศผู้ค้าเกิดความมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย และกรณีของประเทศจีนนั้นกรมประมงก็มั่นใจว่า จะสามารถส่งกุ้งแช่แข็งได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาจากมาตรฐานเพื่อการส่งออกทั้งระบบแล้ว
นางสุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่การเลี้ยงกุ้งในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 316,787 ไร่ โดยเป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลตามมาตรฐาน GAP ( Good Aquaculture Practice) จำนวน 9,239 ฟาร์ม ปริมาณผลผลิตกุ้งของปี 2563 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 230,200 ตัน โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม มีปริมาณผลผลิตรวมอยู่ที่ 105,200 ตัน และในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตรวมประมาณ 125,000 ตัน โดยแบ่งเป็น เดือนมิ.ย. มีผลผลิตประมาณ 15,000 ตัน เดือนก.ค. มีผลผลิตประมาณ 20,000 ตัน เดือนส.ค. มีผลผลิตประมาณ 17,000 ตัน เดือน ก.ย. มีผลผลิตประมาณ 20,000 ตัน เดือนต.ค.มีผลผลิตประมาณ 13,000 ตัน เดือนพ.ย. มีผลผลิตประมาณ 22,000 ตัน และเดือนธ.ค.มีผลผลิตประมาณ 20,000 ตัน
“ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็น 1 ใน 5 ประเทศคู่ค้าที่มีการนำเข้ากุ้งจากประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ประเทศในอาเซียน และออสเตรเลีย โดยในปี2563 ตัวเลขจนถึงวันที่ 31 พ.ค. ประเทศไทยสามารถส่งกุ้งไปยังประเทศจีนแล้วจำนวน 10,362.37 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,956.33 ล้านบาท” นางสุทธินีกล่าว