รีเซต

หลุมอากาศคืออะไร เครื่องบินรับมือได้อย่างไร ? เจาะลึกเทคโนโลยีจากเหตุการณ์เที่ยวบิน SQ321 ของ Singapore Airlines

หลุมอากาศคืออะไร เครื่องบินรับมือได้อย่างไร ? เจาะลึกเทคโนโลยีจากเหตุการณ์เที่ยวบิน SQ321 ของ Singapore Airlines
TNN ช่อง16
22 พฤษภาคม 2567 ( 22:59 )
27
หลุมอากาศคืออะไร เครื่องบินรับมือได้อย่างไร ? เจาะลึกเทคโนโลยีจากเหตุการณ์เที่ยวบิน SQ321 ของ Singapore Airlines

เหตุการณ์เครื่องบินสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ตกหลุมอากาศจนมีคนเสียชีวิต ซึ่งทำให้สังคมตระหนักถึงความอันตรายที่แท้จริงของหลุมอากาศ และอาจสงสัยด้วยว่า เครื่องบิน มีเทคโนโลยีรับมือกับการตกหลุมอากาศอย่างไรบ้าง ?


หลุมอากาศ (Air turbulence) คืออะไร

หลุมอากาศ (Air turbulence) เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น พายุ ลม กระแสลมเจ็ตสตรีม (Jet stream) หรือมีวัตถุใกล้กับระดับที่เครื่องบินบินผ่านซึ่งมักเป็นภูเขาสูง ทั้งหมดล้วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันและกระแสลมที่ผ่านเครื่องบินแบบฉับพลัน จนมีอาการเหมือนตกหลุมเวลาโดยสารรถยนต์


นอกจากหลุมอากาศทั่วไปที่มีสัญญาณเตือนแล้ว ยังมีหลุมอากาศในพื้นที่ฟ้าโปร่ง หรือ Clear Air Turbulence (CAT) เกิดขึ้นในสภาพที่อากาศแจ่มใส ไม่มีเมฆ ไม่มีฝน หรือปัจจัยตัวอย่างข้างต้น ซึ่งทำให้ตรวจจับด้วยสายตาและเครื่องมือได้ยากกว่ามาก


ความรุนแรงของหลุมอากาศ

ความรุนแรงของหลุมอากาศ อาจจะเริ่มจากระดับเล็กน้อย ที่ทำให้เครื่องบินเปลี่ยนระดับขึ้น - ลง ไม่เกิน 1 เมตร สู่ระดับปานกลาง ที่สามารถทำให้เครื่องบินขึ้น - ลง ได้ระหว่าง 3 - 6 เมตร และระดับรุนแรงที่สุดนั้นสามารถทำให้เครื่องบินยกตัวขึ้น - ลง ได้ถึง 30 เมตร หรือมากกว่า


ทั้งนี้ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน SQ321 ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (Singapore Airlines) เป็นเหตุการณ์ที่ตกหลุมอากาศ 5 ครั้ง ในเวลาไม่ถึง 1 นาที และทำให้เครื่องบินเหวี่ยงขึ้นไปสูงสุดถึง 122 เมตร ตามการรายงานของไฟลท์เรดาร์ 24 (flightradar24) เว็บไซต์ติดตามเครื่องบินชื่อดัง ที่เก็บข้อมูลจากระบบระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียมของเครื่องบิน 


และจากข้อมูลเดียวกันนี้ยังพบว่า ตัวเครื่องบินระหว่างที่ตกหลุมอากาศ มีอัตราเร็วในแนวดิ่ง (Vertical Velocity) สูงสุดถึง 1,800 ฟุตต่อนาที (Feet Per Minute: FPM) มากกว่าอัตราเร็วในแนวดิ่งตอนลงจอดกว่า 4 เท่า ที่ประมาณ 400 ฟุตต่อนาที 


เทคโนโลยีบนเครื่องบินสำหรับรับมือหลุมอากาศ

ในขณะที่ผู้ออกแบบเครื่องบินก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะได้ติดตั้งเทคโนโลยีที่ช่วยรับมือและหลีกเลี่ยงสถานการณ์หลุมอากาศบนเครื่องบินเช่นกัน


1. เรดาร์อากาศ อุปกรณ์นี้จะทำหน้าที่ระบุขนาดและตำแหน่งของกลุ่มก้อนเมฆฝน รวมไปถึงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศซึ่งอาจเป็นพายุให้กับนักบิน เพื่อเตรียมตัวในการเปลี่ยนเส้นทาง


2. Gut Load Alleviation System ระบบดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการลดแรงสะเทือนปีกเครื่องบินที่เกิดจากลม ซึ่งมีทิศทางและความเร็วผิดปกตินอกเหนือจากทิศทางลมรอบปีกซึ่งเรียกว่า Gut wind โดยลดแรงปะทะที่เข้ามายังปีกผ่านแฟลบ (Flap) ที่เป็นส่วนล่างสุดของปีกเครื่องบิน ซึ่งสามารถขยับแยกส่วนเพื่อแก้ปัญหาทิศทางลม ซึ่งช่วยทำให้การบินนั่นสั่นสะเทือนน้อยลงในการบินปกติ หรือในกรณีหลุมอากาศก็จะลดอาการโยกสั่นลงได้ โดยระบบนี้มีใช้งานบนเครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 787-9 อยู่ในปัจจุบัน


3. เข็มขัดนิรภัย แม้เข็มขัดนิรภัยจะเป็นเทคโนโลยีที่พื้นฐานที่สุด แต่ก็มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับผู้โดยทุกคน เพื่อให้สามารถผ่านพ้นสภาวะความปั่นป่วนของอากาศได้โดยไม่ถูกเหวี่ยงออกจากที่นั่ง ซึ่งเป็นที่มาของการเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดตลอดเวลาแม้ว่าไฟเตือนให้รัดเข็มขัดจะดับลงแล้วก็ตาม


นักบินรับมือหลุมอากาศอย่างไร

นักบินจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการรับมือกับหลุมอากาศอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การทำให้ผู้โดยสารปลอดภัยเมื่อตกหลุมอากาศ ไปจนถึงการใช้ทักษะการบินในการออกจากพื้นที่หลุมอากาศ


ข้อมูลจากเพจของนักบิน "บินแหลก" ระบุว่า เมื่อนักบินตรวจพบหรือสามารถพบเห็นเมฆฝนหรือพายุ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดหลุมอากาศได้ นักบินจะทำการบินเฉียงไปทางข้างซ้าย หรือทางขวา ของบริเวณที่อาจเกิดหลุมอากาศ โดยไม่บินไต่ระดับขึ้นไป เนื่องจากบริเวณเมฆฝนและพายุยังมีอาณาเขตในแนวดิ่งด้วย การหลบทางข้างจึงปลอดภัยและรวดเร็วกว่า


ในขณะที่การรับมือเมื่อตรวจพบหรือเข้าสู่บริเวณที่เกิดหลุมอากาศในพื้นที่ฟ้าโปร่ง หรือ Clear Air Turbulence (CAT) จะต่างจากการรับมือ Turbulence ปกติ เพราะนักบินจะทำการเปลี่ยนเพดานการบิน ในลักษณะการไต่ขึ้นหรือลดระดับการบินลงไป เพื่ออาศัยแรงในพื้นที่ CAT นำเครื่องบินออกจากพื้นที่ของ CAT ได้  


อย่างไรก็ตาม ในเพจยังระบุด้วยว่าการรับมือ CAT มีความท้าทายกว่า เพราะแม้จะแก้อาการด้วยการลดเพดานการบินเพื่อให้สามารถลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ แต่อาจจะไม่สามารถพ้นพื้นที่การเกิด CAT ได้อยู่ดี


ข้อมูลจาก Reuters, CBCFlightGlobalFlightradar24Infiniteflight (Community)

ภาพจาก Wikimedia


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง