รีเซต

'ถนอมสายตา' ช่วง เวิร์ก ฟรอม โฮม

'ถนอมสายตา' ช่วง เวิร์ก ฟรอม โฮม
มติชน
1 พฤษภาคม 2563 ( 10:42 )
97

‘ถนอมสายตา’ ช่วง เวิร์ก ฟรอม โฮม

เพื่อให้ไวรัสโควิด-19 หมดไปจากประเทศไทย ทุกคนจึงช่วยกัน “อยู่บ้าน เพื่อชาติ” และอีกบางส่วน ก็เปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน WFH (Work from Home)

แต่ถึงจะเปลี่ยนมาเวิร์ก ฟรอม โฮม การดูแลสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย ไม่เว้นแม้แต่ “ดวงตา” ที่ต้องดูแลทะนุถนอม ที่คนทำงานอยู่บ้านควรจัดตารางเวลาการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตให้เหมาะสม ปรับความสว่างหน้าจอและแสงไฟในห้องให้พอดี เพื่อไม่ให้ดวงตาทำงานหนักเกินไป

นพ.นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ จักษุแพทย์ เผยถึงการดูแลดวงตาเพิ่มเติมอีกว่า “การเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะดวงตาแห้ง เราสามารถบริหารดวงตาง่ายๆ ด้วยการกะพริบตาบ่อยๆ ทุก 5 วินาที หมั่นละสายตาจากการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุก 20 นาที สลับกับการมองไกลประมาณ 20 ฟุตหรือมองที่ต่างๆ ภายในบ้านอย่างน้อย 20 วินาที เพื่อลดอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า หากตาแห้งมาก สามารถใช้น้ำตาเทียมหยอดเพิ่มความชุ่มชื้น

ทางที่ดีควรสวมแว่นสายตาเลนส์ป้องกันแสงสีฟ้า (Blue Cut Lens) เพื่อช่วยให้การมองสบายยิ่งขึ้น และช่วยถนอมสายตาเวลาทำงาน

นอกจากนี้ เรายังสามารถบริหารกล้ามเนื้อตาด้วยการกลอกตาทุกชั่วโมง เริ่มจากการมองไปทางขวาสุด ซ้ายสุด ขึ้นบน ลงล่าง และแนวทแยง หลังจากนั้นหลับตาและกลอกตาหมุนตามเข็มนาฬิกา 3 รอบ ทวนเข็มนาฬิกา 3 รอบ และที่สำคัญไม่ควรขยี้ตา เกาจมูก หรือใช้มือสัมผัสใบหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ

นอกจากการบริหารดวงตาแล้ว หากต้องออกไปข้างนอกบ้าน ควรใส่หน้ากากอนามัยและแว่นครอบดวงตา ควรล้างแว่นด้วยน้ำสบู่อ่อนหรือน้ำยาทำความสะอาดแว่นโดยเฉพาะอย่างน้อย 20 วินาทีทุกวัน ถอดล้างคอนแท็กต์เลนส์ทุกวันด้วยน้ำยาและไม่ใส่เกิน 8 ชม.ต่อวัน รือสวมแว่นตาทดแทนการใส่คอนแท็กต์เลนส์ในระยะนี้

ที่สำคัญควรเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินสูงที่มีประโยชน์ต่อดวงตา พักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมากๆ เพื่อเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นภายในโพรงจมูกและทางเดินหายใจ เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดีในการมองเห็นที่ชัดเจน

และที่ขาดไม่ได้ควรตระหนักถึง Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงนี้ให้มาก ไม่ใช้สิ่งของประจำตัวร่วมกันกับผู้อื่น การรับประทานอาหารปรุงสุก ใช้ช้อนกลาง ล้างมืออย่างถูกวิธีและบ่อยครั้งหรือเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น มองภาพเบลอ หรือรู้สึกปวดตา ควรรีบไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาหรือจักษุแพทย์โดยทันที หรือทางที่ดีควรเข้าขอตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง

เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดีและการมองเห็นที่ชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง