รีเซต

กวาดล้าง "ล้ง" ขี้ฉ้อ สวมสิทธิทุเรียนไทย

กวาดล้าง "ล้ง" ขี้ฉ้อ สวมสิทธิทุเรียนไทย
มติชน
25 มิถุนายน 2564 ( 07:12 )
50
กวาดล้าง "ล้ง" ขี้ฉ้อ สวมสิทธิทุเรียนไทย

 

วงการผลไม้ไทยต้องตกตะลึง หลังชุดเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ จ.จันทบุรี บุกจับล้งผลไม้ขนทุเรียนเวียดนาม น้ำหนักกว่า 18 ตัน คาตู้คอนเทนเนอร์ สวมสิทธิเป็นทุเรียนจันทบุรีเตรียมส่งออกไปจีน

 

 

ทำให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการนำเข้าทุเรียนต่างออกมาชี้แจงเหตุที่มีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนามมากถึง 18 ตัน หรือ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ เข้าในประเทศได้อย่างไร ถูกต้องหรือไม่

 

 

จากการตรวจสอบไทม์ไลน์วงจรสวมสิทธิทุเรียน เริ่มจากเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564 นายสมพล ช่างบุ หัวหน้าด่านตรวจพืชจันทบุรี รับแจ้งเบาะแสว่าจะมีผู้นำทุเรียนเวียดนามเข้ามาบรรจุสวมสิทธิใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ที่โรงคัดบรรจุ ลุงตู้-อ๊อด เลขที่ 3/2 หมู่ 10 ต.คลองนารายณ์ อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี

 

 

เมื่อเดินทางไปตรวจสอบพบรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์วิ่งออกมาจากซอยสระ บาปบน ต.คลองนารายณ์ ซึ่งภายในซอยดังกล่าวมีโรงคัดบรรจุลุงตู้-อ๊อดเพียงแห่งเดียว หลังจากเข้าไปในโรงคัดบรรจุดังกล่าวพบคนงานท่าทางมีพิรุธ มี นางเหมา หยางจวน สัญชาติจีน แสดงตนเป็นผู้ดูแล จึงเข้าไปตรวจสอบภายในห้องเย็น พบทุเรียนของกลางแบ่งเป็นกลุ่มตามจุดต่างๆ

 

 

ภายในล้ง ประกอบด้วย 1.ทุเรียนบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษ ด้านข้างติดฉลากที่ระบุแหล่งกำเนิดคือประเทศเวียดนาม 318 กล่อง (1,908 ลูก) 2.ทุเรียนบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษ ด้านข้างติดฉลากที่ระบุแหล่งกำเนิดคือประเทศไทย 279 กล่อง (จำนวน 1,674 ลูก) 3.ทุเรียนที่ยังไม่ติดสติ๊กเกอร์ที่ขั้วผล บรรจุอยู่ในเข่ง 7 ใบ (42 ลูก) 4.ทุเรียนที่ติดสติ๊กเกอร์ที่ขั้วผลแล้ว บรรจุอยู่ในเข่ง 35 ใบ (210 ลูก) 5.ทุเรียนบรรจุกล่องกระดาษ ระบุแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 50 กล่อง (300 ลูก) อยู่บริเวณจุดรอขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ 6.ทุเรียนบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษ ระบุแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 259 กล่อง (1,554 ลูก) อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ หมายเลข MWCU 1823689 วางเรียงอยู่บนรถกึ่งพ่วง ส่วนหัวหมายเลขทะเบียน 71-0256 เชียงใหม่ ส่วนท้ายหมายเลขทะเบียน 70-8430 เชียงใหม่ 7.กล่องกระดาษติดฉลาก ระบุแหล่งกำเนิดในประเทศเวียดนาม 19 กล่อง

 

 

หลังการตรวจสอบได้แจ้งนางหยางจวนสั่งให้คนงานหยุดการเปลี่ยนกล่องบรรจุ และห้ามเคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆ ภายในห้องเย็น ขณะนั้นพบว่าผลทุเรียนยังคงมีความเย็นอยู่ แสดงว่าเพิ่งถูกขนย้ายออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์ และมีจำนวนตามที่ท่าเรือแหลมฉบังแจ้งมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ว่ามีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนามผ่านการขนส่งทางเรือมายังท่าเรือแหลมฉบังไปยังห้องเย็นชื่อตังตังค์ ผลไม้ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อแปรรูปเป็นเนื้อทุเรียนแช่แข็งและจำหน่ายภายในประเทศ

 

 

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืชที่จะยื่นต่อด่านตรวจพืชเชียงของ จ.เชียงราย ระบุว่าจะมีการส่งออกทุเรียนไทยจากโรงงานผลิตสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ (GMP) ซึ่งเป็นของผู้ประกอบการชาวไทยรายหนึ่ง และทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นของผู้ประกอบการ ผลไม้ชาวไทยอีกรายหนึ่งคือ นายวันชาติ ฉายเนตร โดยมีสถานประกอบการตั้งอยู่ที่ 3/2 หมู่ 10 ต.คลองนารายณ์ อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี ไปยังประเทศจีน จึงน่าเชื่อว่ามีผู้นำทุเรียนเวียดนามเข้ามาบรรจุใหม่ ในกล่องที่ระบุแหล่งกำเนิดประเทศไทยที่มี Form E หรือหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดว่าเป็นผลไม้ไทย แล้วสวมสิทธิส่งไปขายประเทศจีน

 

 

จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและฝ่ายปกครอง ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบพบทุเรียนตามที่แจ้ง จึงตรวจยึด/อายัดไว้ที่ห้องเย็นดังกล่าว

 

 

หลังนายสมพล ช่างบุ หัวหน้าด่านตรวจพืช แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายวันชาติ ฉายเนตร เจ้าของโรงคัดบรรจุ กับพวก ในข้อหาเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ และข้อหาพยายามขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดของนั้นอันเป็นเท็จ

 

 

จากนั้น เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ได้ประเมินราคาและขายทอดตลาดทุเรียนของกลาง แล้วนำเงินมาเก็บรักษาแทน เนื่องจากของกลางเป็นทุเรียนสด เน่าเสียง่าย โดยมี น.ส.ชนากานต์ ทวีอภิรดีลาภ อยู่บ้านเลขที่ 134 หมู่ 12 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ประมูลของกลางดังกล่าวไปในราคา 1,110,000 บาท ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าฯจันทบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนชุดเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ จ.จันทบุรี นำโดย พล.ต.ต.จรัล จิตเจือจุน รอง ผบช.ภ.3 รรท.ผบก.ภ.จว.จันทบุรี พร้อม นายวุฒิกร สุขีนัย นายอำเภอเมืองจันทบุรี นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมประชุมสรุปความคืบหน้าคดีและประเมินความเสียหาย

 

 

จากการรายงานข้อมูลเบื้องต้นพบว่า การนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามของล้งดังกล่าวมีเอกสารถูกต้อง โดยระบุว่านำเข้าเพื่อแปรรูป แต่มีการนำมาเปลี่ยนวัตถุประสงค์ ต่างจากที่แสดงในเอกสาร คือนำมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยเพื่อส่งขายประเทศจีนทั้งลูก โดยมิได้แปรรูป ถือเป็นความผิดที่ชัดเจน ส่วนความเสียหาย ทำให้เกษตรกรไทยสูญเสียโอกาสในการขายผลผลิตทุเรียนเนื่องจากถูกสวมสิทธิ คำนวณจากน้ำหนักทุเรียน 18 ตัน หรือราว 181,000 กิโลกรัม คูณด้วยราคาขาย ณ ปัจจุบันในท้องตลาดอยู่ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 150 บาท ยอดความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 2,700,000 บาท อีกทั้งยังทำให้ภาพพจน์ทุเรียนไทยเสียหาย พร้อมกันนี้ยังเข้มงวดมาตรการป้องกันการนำทุเรียนจากประเทศอื่นมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยเพื่อส่งออก

 

 

พล.ต.ต.จรัล จิตเจือจุน รอง ผบช.ภ.3 รรท.ผบก.ภ.จว.จันทบุรี เผยว่า พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เบื้องต้นพบว่าเป็นการกระทำความผิดในข้อหาแจ้งหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับใบรับรอง GAP และ GMP อาจจะแยกเป็นหลายกรรมทั้งเรื่องทุเรียนด้อยคุณภาพ เข้าข่ายความผิดข้อหาหลอกลวงผู้บริโภคตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการแสดงแจ้งเอกสารใบรับรอง GAP และ GMP เพื่อใช้สวมสิทธิแหล่งกำเนิดทุเรียนเพื่อการส่งออก อาจมีความผิดในข้อหาแสดงหรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เป็นคดีอาญา

 

 

“ชลธี นุ่มหนู” ผู้อำนวยการ สวพ.6 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แนวทางการการป้องกันการสวมสิทธิใบรับรอง GAP ของเกษตรกรนั้น อยากฝากถึงเกษตรกรว่าเมื่อเข้าสู่ระบบการรับรอง GAP แล้ว เวลาการใช้ใบรับรองทุกครั้งให้เขียนกำกับลงในใบสำเนาว่าได้ขายผลผลิตให้กับโรงคัดบรรจุใด/วันที่ และปริมาณเท่าไร พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาและเบอร์โทรแนบไปด้วย เพื่อใช้ในการตรวจสอบไทม์ไลน์ย้อนหลัง เพื่อเป็นการป้องกันการสวมใช้ใบรับรอง GAP ของเกษตรกรได้

 

 

“ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาบทลงโทษกรณีสวมใช้สิทธิ โดยในส่วนโรงคัดบรรจุ หากพบการกระทำผิดสวมใช้ใบรับรอง GAP อาจพักใช้หมายเลขการรับรอง GMP จะทำให้โรงคัดบรรจุนั้นถูกตัดสิทธิห้ามการส่งออกผลผลิต ส่วนเกษตรกรที่ถูกสวมสิทธิก็สามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้ด้วยเช่นกัน” ผู้อำนวยการ สวพ.6 แนะนำ

 

 

เป็นอีกรายที่จับได้ไล่ทันกับล้งขี้ฉ้อ ไม่เพียงแต่ทำให้เกษตรกรไทยเสียโอกาสในการขายผลผลิต แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือการนำทุเรียนด้อยคุณภาพจากประเทศอื่นมาสวมสิทธิอ้างเป็นทุเรียนไทย ซึ่งถือว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้ไทย” ทำให้ผู้บริโภคในต่างประเทศเข้าใจผิด และเหมารวมว่าทุเรียนไทยไม่ได้คุณภาพ ทำให้ภาพพจน์และเอกลักษณ์ทุเรียนไทยเสียหาย ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อการส่งออกของทุเรียนไทยในภาพรวมทั้งหมด ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกวาดล้างล้งขี้ฉ้อนี้ให้หมดไปโดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง