จีนพบ 'หลุมศพ' สมัยราชวงศ์ถัง ซุกกลางกำแพงเมืองโบราณสองยุค
เจิ้งโจว, 28 มี.ค. (ซินหัว) -- คณะนักโบราณคดีในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีนได้ค้นพบหลุมศพจากยุคราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) จำนวน 6 หลุม ซึ่งตั้งอยู่ ณ ความลึกแตกต่างกันระหว่างกำแพงเมืองโบราณที่ฝังอยู่ใต้ดิน โดยการค้นพบนี้เกื้อหนุนการศึกษาซากโบราณหลากวัฒนธรรมในแอ่งแม่น้ำเหลืองของจีนเย่ว์หงปิน นักวิจัยประจำสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน และผู้อำนวยการสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีซางชิว ระบุว่าหลุมศพทั้งหกหลุมตั้งอยู่บริเวณซากซ่งกั๋วกู่เฉิง หรือซากเมืองหลวงโบราณของแคว้นซ่งในยุคชุนชิวหรือยุควสันตสารท (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช)หลุมศพเหล่านี้ตั้งอยู่ ณ จุดตัดของกำแพงทิศใต้ของเมืองหลวงโบราณแห่งแคว้นซ่ง และกำแพงทิศตะวันตกของเมืองโบราณซุยหยางแห่งราชวงศ์ถัง โดยกำแพงทิศตะวันตกของเมืองโบราณซุยหยางแห่งราชวงศ์ถังนั้นซ้อนทับอยู่บนกำแพงทิศใต้ของเมืองหลวงโบราณแห่งแคว้นซ่งคณะนักโบราณคดีขุดพบเหรียญทองแดง กระจกทองแดง ไหดินเผา และแผ่นจารึกบนหลุมศพที่ระบุวันเวลาอย่างแม่นยำ ซึ่งถือเป็นการค้นพบอันมีนัยสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นหลักฐานแสดงลำดับเวลาของการเลิกใช้และก่อสร้างสองกำแพงเมืองที่มาจากต่างยุคสมัยสถาบันฯ ระบุว่ามีการค้นพบกลุ่มซากเมืองโบราณจากยุคชุนชิวจนถึงยุคราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644) บริเวณซากซ่งกั๋วกู่เฉิง โดยลำดับชั้นทางวัฒนธรรมจากต่างยุคสมัยนี้เกิดขึ้นจากการทับถมของดินตะกอนและการยกตัวของฐานรากอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของแม่น้ำเหลืองในอดีตกาล