เปิดกุฏิเกจิดัง ตะลึง หลวงปู่ทอง ในกรงเหล็ก3ชั้น เผยประวัติ-ความศักดิ์สิทธิ์
เปิดกุฏิเกจิดัง หลังมรณภาพเมื่อปี 2544 ตะลึง พระสมัยกรุงธนบุรี หุ้มทองคำแท้ ตบตาทัพพม่า ในกรงเหล็ก 3 ชั้น วัดดังราชบุรี เผยความศักดิ์สิทธิ์
วันที่ 17 ธ.ค.2563 ที่วัดจอมปราสาท ต.คลองข่อย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการพบพระสมัยเก่ายุคกรุงธนบุรีเป็นเนื้อทองคำ จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบเป็นวัดเก่ามีอายุยาวนาน โดยที่บริเวณกุฏิไม้ยกพื้นหลังใหญ่ พระอธิการนิพล กิตฺติสาโร เจ้าอาวาส และกรรมการวัด ได้นำกุญแจไขเปิดประตูไม้ด้านใน และมีประตูเหล็กอีกชั้น
เมื่อเปิดประตูพบว่า ด้านในมีลูกกรงเหล็กอีก 2 ชั้น ปิดล้อมพระพุทธรูปโบราณอย่างแน่นหนา โดยรอบห้องพบมีฝุ่นหนาและใยแมงมุมจับเต็มไปทั่วห้อง เหมือนกับว่าห้องนี้ไม่เคยเปิดมาเป็นระยะเวลานานหลายปี ด้านข้างทั้งสองข้าง พบพระพุทธรูปและรูปปั้นปู่ฤาษี พระพุทธรูปปรางค์ต่าง ๆ รวมถึงพระเครื่อง ตู้เก็บใบลาน และสิ่งของเครื่องใช้สมัยก่อนอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีรูปปั้นแมวลาย 5 ตัวตั้งอยู่มุมด้านหน้าองค์พระทั้งสองด้าน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นแมวที่ใช้แห่นางแมวเวลาฝนไม่ตก
จากการตรวจสอบพระพุทธปราสาททองจอมมุนีนาถ หลวงปู่ทอง พบว่าพระพุทธรูปมีลักษณะเก่าแก่เนื้อสีดำลงลักษณ์ปิดทอง มีความสูงประมาณ 32 นิ้ว หรือ 80 เซนติเมตร หน้าตักประมาณ 24 นิ้ว หรือ 60 เซนติเมตร รูปทรงโตนั่งเอียงทางซ้าย พระพักตร์กลมใหญ่ หูยาว จมูกโด่งใหญ่ เกศาขดเป็นก้นหอยทรงกลมไม่มียอดเศียร พระพุทธรูปปางประทานธรรม เป็นพระพุทธรูปอิริยาบถนั่งสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ซ้ายถือด้ามสำหรับเสียบตาลปัตร
มีสภาพความสมบูรณ์ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ช่วงแขนซ้ายมีร่องรอยแตกกะเทาะเป็นชิ้น ช่วงฐานล่างซ้ายมีรอยแตกหักเป็นเนื้อปูนสีขาว ซึ่งบริเวณตำแหน่งช่วงแขนด้านซ้ายตั้งแต่ช่วงหัวไหล่มาจนถึงข้อศอกมีร่องรอยกะเทาะหลุดออกมา ทำให้เห็นเนื้อในพบว่าเป็นทองคำ โดยให้ช่างจากร้านทองที่อ.โพธาราม มาทำการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นทองคำแท้
จากการสอบถาม พระอธิการนิพล กิตฺติสาโร กล่าวว่า กุฎิหลังนี้เป็นกุฎิของ พระครูสารกิตโกสน หรือ หลวงพ่อปรีชา โรดเกาะ เกจิอาจารย์ดัง รุ่นหลวงปู่ม่วง อดีตเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลโพธารามเขต 1 มรณภาพเมื่อปี 2544 ซึ่งท่านเป็นผู้เก็บรักษา พระพุทธปราสาททองจอมมุนีนาถ (หลวงปู่ทอง) หรือ พระทองคำแท้ จากที่ทราบพระพุทธรูปเนื้อทองคำแท้องค์นี้ มีอายุกว่า 247 ปี ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ช่วงสงคราม 9 ทัพ ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพปราบข้าศึกทัพพม่าที่โคกกระต่าย ค่ายบางแก้ว เมืองราชบุรี ปี พ.ศ.2317
พระอธิการนิพล กล่าวต่อว่า โดยชาวบ้านได้ปั้นด้วยปูนเป็นพระพุทธรูปห่อหุ้มทองคำไว้ เพื่อตบตาข้าศึกทัพพม่าไว้ ก่อนจะนำข้ามแม่น้ำแม่กลองมาเก็บรักษาไว้ที่บ้านคลองข่อย ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ภายในกรงเหล็กอย่างแน่นหนา ที่วัดแห่งนี้ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวว่า "พระพุทธปราสาททองจอมมุนีนาถ (หลวงปู่ทอง)"
ด้าน นายชนกฤษ์ ไชจันทร์ อายุ 69 ปี ไวยาวัชยากรและกรรมการ เปิดเผยว่า ตนเป็นคนที่นี่มาตั้งแต่กำเนิด ได้รับใช้อยู่กับหลวงพ่อปรีชา ทางหลวงพ่อได้เล่าให้ฟังและทราบรู้เรื่องราวของพระพุทธปราสาททองจอมมุนีนาถ (หลวงปู่ทอง) จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ หลวงพ่อทองคำเกิดมาในยุคที่มีฆ่าศึกพม่ามาโจมตีคนไทยได้หนีมาสุดที่แม่น้ำ ตอนนั้นได้นำทองคำมาด้วยและไม่รู้ว่าจะนำไปซุกไว้ที่ไหน จึงได้หล่อเป็นพระด้วยปูนหุ้มไว้ แล้วนำข้ามแม่น้ำแม่กลองมาไว้ที่วัดจอมปราสาทแห่งนี้ โดยที่ชาวบ้านไม่รู้เลยว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นทองคำแท้
นายชนกฤษ์ กล่าวต่อว่า สมัยก่อนจะไม่มีพระพุทธรูปไว้ตามบ้าน เวลาชาวบ้านทำงานบุญจะมานำพระพุทธรูปองค์นี้ไปเป็นพระประธาน และจากความศักดิ์สิทธิ์เมื่อครั้งที่เกิดฝนแล้งชาวบ้านได้นำพระพุทธรูปองค์นี้ไปทำการแห่กลางทุ่งและนำไปไว้ที่กลางทุ่ง ได้เกิดฝนตกลงมาจริง ทำให้ชาวบ้านเกิดความศรัทธาต่อพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ต่อมาเมื่อมีงานครั้งใดชาวบ้านก็จะนำไปประกอบพิธีทุกครั้ง ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้เอะใจอะไรเพราะไม่รู้ว่ามีทองคำซ่อนอยู่
"บางครั้งปล่อยท่านทิ้งตากแดดตากฝน จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุองค์พระกลิ้งตกกระแทกพื้นจนเนื้อปูนที่องค์ด้านซ้ายช่วงแขนกะเทาะหลุดออกมาเป็นชิ้น จนเห็นประกายทองขึ้นมา ทางพระเดชพระคุณหลวงพ่อปรีชาอดีตเจ้าอาวาสได้ไปตามช่างทองมาตรวจสอบและพบว่าเป็นทองคำแท้ และได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่กุฏิของหลวงพ่อปรีชา โดยให้ช่างมาทำกรงเหล็กครอบเอาไว้เพื่อป้องกันการโจรกรรมมาจนถึงปัจจุบัน และเรียกพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวว่า "พระพุทธปราสาททองจอมมุนีนาถ (หลวงปู่ทอง)" นายชนกฤษ์ กล่าว
นายชนกฤษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทอง เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ร่วมกับคณะกรรมการวัดและชาวบ้านร่วมกันสร้างหลวงปู่ทององค์ใหญ่ ชื่อ สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธปราสาททองจอมมุนีนาถ (หลวงปู่ทอง ) องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่กลางพื้นที่ของวัดจอมปราสาท ต.คลองข่อย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หน้าตักกว้าง 9 เมตร 9 นิ้ว สูง 11 เมตร 19 นิ้ว เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชา ปัจจุบันยังสร้างไม่แล้วเสร็จและยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งต้องใช้ปัจจัยอีกว่า 10 ล้านบาท
https://youtu.be/Pei49czFXGU