ค่าไฟฟ้าประกอบด้วยอะไรบ้าง และค่า FT คืออะไร
NewsReporter
19 กันยายน 2565 ( 11:41 )
966
จากประเด็นข่าวที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่า FT งวดใหม่ โดยการ ลดค่าไฟฟ้า ให้กับครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ล่าสุด MEA ชี้แจงมาตรการส่วน "ลดค่า FT" ตามนโยบายรัฐบาล ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าในรอบเดือน กันยายน - ธันวาคม 2565 ค่าไฟฟ้าประกอบด้วยอะไรบ้าง และค่า FT คืออะไร TrueID หาคำตอบมาให้แล้ว
ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1. ค่าไฟฟ้าฐาน
ค่าการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า โดยวิธีการคำนวณก็จะแบ่งตามประเภทผู้ใช้งาน ได้แก่
ประเภทที่ 1 | บ้านอยู่อาศัย |
ประเภทที่ 2 | กิจการขนาดเล็ก |
ประเภทที่ 3 | กิจการขนาดกลาง |
ประเภทที่ 4 | กิจการขนาดใหญ่ |
ประเภทที่ 5 | กิจการเฉพาะอย่าง |
ประเภทที่ 6 | องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร |
ประเภทที่ 7 | กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร |
ประเภทที่ 8 | ไฟฟ้าชั่วคราว |
*ทั้งนี้ ในแต่ละประเภท ก็จะแบ่งหน่วยการคิดค่าไฟฟ้าแยกย่อยตามแต่ละหน่วยที่แบ่งการคิดต้นทุนไว้
2. ค่า Ft
ค่า Ft คือ คำที่เรียกสั้น ๆ ของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า
สูตร Ft มีการปรับปรุงสูตรหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาวะการณ์ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ณ ขณะนั้น ๆ ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ได้มีการปรับปรุงสูตร Ft โดยให้คงเหลือเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเท่านั้น
การปรับค่าไฟฟ้า Ft เดิมดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ ซึ่งต่อมา กพช. ได้ยกเลิกคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบค่าไฟฟ้า Ft
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
**โดยค่า Ft มีการปรับปรุงทุก ๆ 4 เดือน
เนื่องจากตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณสูตร Ft ให้คงเหลือเพียง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน เท่านั้นที่ กฟผ.ไม่สามารถควบคุมได้ และสามารถนำไปคำนวณในสูตร Ft
ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงได้ประสานงานกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เพื่อเปลี่ยนคำย่อของค่า Ft ให้สอดคล้องกับสูตรปัจจุบัน ดังนั้น Ft ย่อมาจากคำว่า Fuel Adjustment Charge (at the given time)
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft แล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ด้วย
หมายเหตุ: จะเห็นว่า ตัวเลข Ft เป็นค่าติดลบ ถ้าสรุปให้เข้าใจแบบง่าย ๆ คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ ค่า Ft ซึ่งเป็นตัวเลขติดลบกลายเป็นตัวเลขที่น้อยลง ก็หมายถึง ตัวที่จะนำไปหักกับค่าไฟฐานลดลง ก็อาจจะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้น
(ที่มาจาก http://www.eppo.go.th/power/ft.html)
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<