รีเซต

'หมอธีระ' เตือนโควิด-19 อัตราป่วยตายสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ แม้โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดิม

'หมอธีระ' เตือนโควิด-19 อัตราป่วยตายสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ แม้โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดิม
มติชน
13 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:19 )
42

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุว่า “ทะลุ 410 ล้านแล้ว

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,847,379 คน ตายเพิ่ม 7,584 คน รวมแล้วติดไปรวม 410,552,022 คน เสียชีวิตรวม 5,827,714 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เยอรมัน บราซิล ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.51 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 77.28

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 53.39 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 36.77

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

…อัพเดตความรู้โควิด-19 สุดสัปดาห์

หนึ่ง “โรค COVID-19 มีอัตราป่วยตายสูงกว่าไข้หวัดใหญ่”

แม้ Omicron จะรุนแรงน้อยลงกว่าเดิม แต่อัตราป่วยตายของโควิด-19 ยังสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ราว 1.6 เท่า หากดูจากข้อมูลในสหราชอาณาจักร

ในขณะที่จำนวนการตายจากโควิด-19 ทั่วโลกนั้น ก็สูงมากในแต่ละวัน หากเปรียบเทียบจำนวนการตายจากโควิด-19 กับจำนวนการตายจากไข้หวัดใหญ่ในบางประเทศที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา จะพบว่าสูงกว่าถึง 100 เท่าเลยทีเดียว

ดังนั้นปัจจุบัน หากดูตามข้อมูลวิชาการจึงฟันธงว่า COVID-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่

สอง “การติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต”

การศึกษาในสหรัฐอเมริกาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ชี้ให้เห็นว่าหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 และรักษาหายแล้ว คนที่ติดเชื้อนั้นก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นปัญหาเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด ราว 20 ชนิด ในช่วง 12 เดือนถัดมา อาทิ หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจหยุดเต้น โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตันในปอดและหลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้พบว่า คนที่เคยติดเชื้อจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนไม่ติดเชื้อ 52% และมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนไม่ติดเชื้อ 72%

โดยเฉลี่ยแล้ว ในกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อ 1,000 คน จะมี 45 คนที่มีปัญหาหัวใจและหลอดเลือดข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลา 12 เดือนหลังการติดเชื้อ

ข้อมูลวิชาการข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ประวัติการติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

และถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของภาวะ Long COVID ที่จะเป็นผลกระทบระยะยาวต่อตัวคนที่ติดเชื้อ ครอบครัว และสังคม

การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

พรุ่งนี้วันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก ขอให้ระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อแพร่เชื้อโควิด-19 หากออกไปฉลอง ไปกินดื่ม และอื่นๆ

Happy Sunday Morning ครับ…

อ้างอิง
1. COVID-19 takes serious toll on heart health—a full year after recovery. Science Insider. 9 February 2022.
2. Heart-disease risk soars after COVID — even with a mild case. Nature. 10 February 2022.
3. Xie, Y., Xu, E., Bowe, B. & Al-Aly, Z. Nature Med (2022).

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง