ส่านซีพบ 'สุสานขนาดใหญ่' เชื่อมโยง 'วัฒนธรรมโบราณ 4,000 ปี'
ซีอัน,6 ต.ค. (ซินหัว) -- สถาบันโบราณคดีมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เปิดเผยการค้นพบสุสานขนาดใหญ่ในเมืองอวี๋หลินของมณฑล ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับซากโบราณจากวัฒนธรรมสือเหม่า (Shimao) ที่มีอายุย้อนไปได้ถึง 4,000 ปีก่อน
แหล่งโบราณคดีไจ้ซานครอบคลุมพื้นที่ราว 1 ล้านตารางเมตร คือที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ ซึ่งมีการพบสุสานดังกล่าว โดยตั้งอยู่ห่างจากแหล่งขุดค้นสือเหม่าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร
เส้าจิ้ง ผู้รับผิดชอบโครงการโบราณคดีไจ้ซาน เปิดเผยว่ารูปแบบการฝังศพพร้อมเครื่องสังเวยที่เป็นสตรีเพศและเครื่องหยกในหลุมศพต่างๆ ที่ขุดค้นพบในหมู่หินดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของซากโบราณในวัฒนธรรมสือเหม่า
การตรวจสอบทางโบราณคดีระบุในเบื้องต้นว่าที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหลงซาน ซึ่งเป็นอารยธรรมยุคหินใหม่ตอนปลาย ซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางและตอนปลายของแม่น้ำเหลือง
เส้าระบุว่าซากปรักหักพังของที่อยู่อาศัยสีขาว-เทา ห้องใต้ดินรูปกระสอบ และหลุมฝังศพที่ฝังโดยวิธีการขุดหน้าดินลงไปในแนวตั้ง ล้วนบ่งบอกถึงการแบ่งสรรพื้นที่ตามการใช้งานของที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณแห่งนี้
จนถึงขณะนี้ บรรดานักโบราณคดีได้ขุดพบหลุมศพแล้ว 21 หลุม ซึ่งล้วนเป็นหลุมฝังศพที่จัดวางผ่านการขุดหน้าดินลงไปในแนวตั้ง และมีการขุดค้นโบราณวัตถุมากมาย อาทิ เครื่องหยก เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือหิน
เส้าเสริมว่าสุสานแห่งนี้เป็นสุสานวัฒนธรรมสือเหม่าขนาดใหญ่แห่งแรกเท่าที่เคยค้นพบมา อีกทั้งการขุดค้นครั้งนี้ยังให้ข้อมูลที่สำคัญต่อการศึกษาต้นกำเนิดและพัฒนาการของวัฒนธรรมสือเหม่าที่เก่าแก่ถึง 4,000 ปี