รีเซต

"คลัง"แจงข้อท้วงติง “คนละครึ่ง”ไม่ทั่วถึง ยัน มาตรการรัฐมีหลากหลาย

"คลัง"แจงข้อท้วงติง “คนละครึ่ง”ไม่ทั่วถึง ยัน มาตรการรัฐมีหลากหลาย
มติชน
28 พฤศจิกายน 2563 ( 14:23 )
163
"คลัง"แจงข้อท้วงติง “คนละครึ่ง”ไม่ทั่วถึง ยัน มาตรการรัฐมีหลากหลาย

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่มีผู้ให้ความเห็นต่อโครงการคนละครึ่งว่าเป็นโครงการที่ดี ที่มีการออกแบบมาให้ผู้ได้รับประโยชน์เป็นร้านค้าขนาดเล็ก และให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ และกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ข้อจำกัดของโครงการ คือ ประชาชนลงทะเบียนไม่ทัน และผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนไม่สามารถเข้าถึงโครงการได้

 

กระทรวงการคลังขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการดูแลผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2560 โดยให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาทิ วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับ 300 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้รับ 200 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังได้รับวงเงินสำหรับค่าโดยสารเดินทาง ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้แก่ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็นต้น กว่า 1,500 บาทต่อเดือน

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงมีมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งนอกจากโครงการคนละครึ่งที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้ที่พอจะมีกำลังซื้อมาร่วมจ่ายกับรัฐแล้ว ยังมีโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มดังกล่าว ประมาณ 14 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2563 อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังก่อให้เกิดการใช้จ่าย ในท้องถิ่น กระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญด้วย

 

สำหรับโครงการคนละครึ่งมีระบบการใช้จ่ายด้วยแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” ที่มีการยืนยันตัวตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้ให้มั่นใจว่าไม่มีผู้อื่นมาใช้สิทธิแทน และมีการใช้จ่ายจริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนทุกระดับจนถึงระดับฐานราก ให้สามารถใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาให้สังคมไทยเดินหน้าสู่ Digital Society ไปพร้อม ๆ กัน ในขณะเดียวกันยังเป็นการลดการใช้เงินสด ทำให้การดำเนินโครงการโปร่งใส รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับประเด็นข้อจำกัดอื่น ๆ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงให้ครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด

 

รองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้ย้ำว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายในการดูแลประชาชนให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังได้มีการดูแลประชาชนกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการอื่น ๆ ของรัฐด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง