1 พ.ย. นี้ เริ่มเปิดประเทศ เช็กมาตรการอีกครั้ง มั่นใจปลอดภัยโควิด และไม่ผิดกฎหมาย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นั้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาถือเป็นความท้าทายและเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญที่ประเทศไทยได้ข้ามผ่านอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกโดยอาศัยการประสานความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมดำเนินการและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ได้กำหนดไว้ประกอบกับอัตราผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เหตุดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยส่งผลต่อภาพรวมของสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยที่มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดี รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามระดับพื้นที่สถานการณ์ รวมทั้งปรับเกณฑ์การพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นและรองรับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว
ข้อกำหนดฉบับนี้จึงเป็นการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคและรวบรวมบรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการต่างๆ ที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดฉบับก่อนหน้าโดยจำแนกออกเป็นพื้นที่สถานการณ์ที่แตกต่างลดหลั่นกันตามความรุนแรงของการระบาดของโรค
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ที่จะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ให้ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้การดำเนินกิจการและกิจกรรมของบุคคลและสถานที่ต่างๆ อยู่ภายใต้เงื่อนไขการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรค เพื่อรักษาสมดุลด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2535 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด - 19) (ศบค.)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
เดินทางเข้าไทย ต้องทำอย่างไร
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 โดยสรุปได้ 3 ประเภท มีรายละเอียด ดังนี้
1.Test and Go ทางอากาศ ไม่กักตัว เดินทางได้ทุกพื้นที่
เดินทางมาจากประเทศที่กำหนดพำนักในประเทศที่กำหนด 21 วันก่อนเดินทาง ยกเว้นประเทศไทย
พำนักเพื่อรอผลตรวจ RT-PCR ในโรงแรมสถานที่กับตัวทางเลือก (AQ) แนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจสำหรับผู้ประกอบการ (SHA+) ที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ 1 วัน
ต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนว่า ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทางยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่มากับผู้ปกครอง
ต้องมีหลักฐานการจองที่พักการจ่ายค่าที่พักจำนวน 1 วัน รวมค่าตรวจ RT-PCR และ ATK
ต้องมีประกันภายในวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ยกเว้นคนไทยที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว)
รวมถึงผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจ RT-PCR ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง
เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยตรวจเชื้อโควิดครั้งที่ 1 ด้วยวิธีการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ด้วยการตรวจแบบ ATK ด้วยตัวเองเมื่อมีอาการหรือในวันที่ 6-7
2.ผู้เดินทางเข้าพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ทางอากาศ (Sandbox programme)
เดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ พำนักในพื้นที่ Sandbox เป็นเวลา 7 วัน ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทาง ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีที่มากับผู้ปกครอง
มีหลักฐานการจ่ายค่าที่พัก SHA+ในพื้นที่ Sandbox จำนวน 7 วัน
รวมถึงผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจ RT-PCR ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง
เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยตรวจเชื้อโควิดครั้งที่ 1 ด้วยวิธีการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ด้วยการตรวจแบบ ATK ด้วยตัวเองเมื่อมีอาการหรือในวันที่ 6-7
3. Quarantine Facilities (AQ,OQ,AHQ,SQ) ผู้เดินทางเข้าทุกช่องทาง กักตัว
เดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ โดยต้องกักตัวในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนด ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ทุกช่องทาง 7 วัน ส่วนที่ไม่ได้รับวัคซีนเดินทางทางอากาศและทางน้ำกักตัว 10 วัน ส่วนทางบก 14 วัน ต้องมีหลักฐานการจ่ายค่าที่พักสถานกักกันที่ราชการกำหนดจำนวน 7 วัน 10 วันและ 14 วัน
รวมถึงผลการตรวจเชื้อ โควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจ RT-PCR ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง โดยคนไทยไม่ต้องมีผลตรวจเชื้อ โควิด-19 ก่อนเดินทาง มีการตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่เดินทางถึง (วันที่ 0-1) ครั้งที่ 2 วันที่ 6-7 หรือ 8-9 แล้วแต่กรณี
ราชกิจจาฯ ออกประกาศ "ห้ามชุมนุม - ทำกิจกรรม - มั่วสุม" ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ต้อนรับการเปิดประเทศ ฝ่าฝืนเจอทั้งจำ-ปรับ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุบกษา เผยแพร่ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 13) โดยมีข้อห้าม และข้อปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุมการทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564
2. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร
3. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ ในเรื่องมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสาหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง ให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564
4. ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง ที่ได้มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ ในเรื่องมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสาหรับพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พร้อมต้อนรับ 46 ประเทศ
สำหรับรายชื่อประเทศและพื้นที่ต้นทางที่ได้รับอนุญาต มีจำนวน 46 รายชื่อ ได้แก่
1.ออสเตรเลีย
2.ออสเตรีย
3.บาห์เรน
4.เบลเยียม
5.ภูฏาน
6.บรูไนดารุสซาลาม
7.บัลแกเรีย
8.กัมพูชา
9.แคนาดา
10. ชิลี
11.จีน
12.ไซปรัส
13.สาธารณรัฐเช็ก
14.เดนมาร์ก
15.เอสโตเนีย
16.ฟินแลนด์
17.ฝรั่งเศส
18.เยอรมนี
19.กรีซ
20.ฮังการี
21.ไอซ์แลนด์
22.ไอร์แลนด์
23.อิสราเอล
24.อิตาลี
25.ญี่ปุ่น
26.ลัตเวีย
27.ลิทัวเนีย
28.มาเลเซีย
29.มอลตา
30.เนเธอร์แลนด์
31.นิวซีแลนด์
32.นอร์เวย์
33.โปแลนด์
34.โปรตุเกส
35.กาตาร์
36.ซาอุดีอาระเบีย
37.สิงคโปร์
38.สโลวีเนีย
39.เกาหลีใต้
40.สเปน
41.สวีเดน
42.สวิตเซอร์แลนด์
43.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
44.สหราชอาณาจักร
45.สหรัฐอเมริกา
46.ฮ่องกง
โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศจากประเทศที่กำหนดว่า เป็นประเทศความเสี่ยงต่ำ เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย ทุกคนต้องแสดงตัวว่าปลอดเชื้อโควิด-19 โดยต้องมีหลักฐานผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งทำการตรวจก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง และจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย หลังจากนั้น จึงสามารถเดินทางไปพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับที่คนไทยปกติทั่วไปสามารถทำได้
อัพเดทล่าสุด สำหรับ บัญชีรายชื่อจังหวัดที่กำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น 7 จังหวัด
1. จังหวัดจันทบุรี
2. จังหวัดตาก
3. จังหวัดนครศรีธรรมราช
4. จังหวัดนราธิวาส
5. จังหวัดปัตตานี
6. จังหวัดยะลา
7. จังหวัดสงขลา
พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งสิ้น 38 จังหวัด
1. จังหวัดกาญจนบุรี
2. จังหวัดขอนแก่น
3. จังหวัดฉะเชิงเทรา
4. จังหวัดชลบุรี (ยกเว้นอำภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบเฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่)
5. จังหวัดชุมพร
6. จังหวัดเชียงราย
7. จังหวัดเชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง)
8. จังหวัดตรัง
9. จังหวัดตราด (ยกเว้นอำเภอเกาะช้าง)
10. จังหวัดนครนายก
11. จังหวัดนครปฐม
12. จังหวัดนครราชสีมา
13. จังหวัดนครสวรรค์
14. จังหวัดนนทบุรี
15. จังหวัดปทุมธานี
16. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ยกเว้นตำบลหัวหิน และตำบลหนองแก)
17. จังหวัดปราจีนบุรี
18. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
19. จังหวัดพัทลุง
20. จังหวัดพิจิตร
21. จังหวัดพิษณุโลก
22. จังหวัดเพชรบุรี (ยกเว้นเทศบาลเมืองชะอำ)
23. จังหวัดเพชรบูรณ์
24. จังหวัดระนอง (ยกเว้นเกาะพยาม)
25. จังหวัดระยอง (ยกเว้นเกาะเสม็ด)
26. จังหวัดราชบุรี
27. จังหวัดลพบุรี
28. จังหวัดสตูล
29. จังหวัดสมุทรปราการ (ยกเว้นบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)
30. จังหวัดสมุทรสงคราม
31. จังหวัดสมุทรสาคร
32. จังหวัดสระแก้ว
33. จังหวัดสระบุรี
34. จังหวัดสุพรรณบุรี
35. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ยกเว้นเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า)
36. จังหวัดอ่างทอง
37. จังหวัดอุดรธานี (ยกเว้นอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)
38. จังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่ควบคุม รวมทั้งสิ้น 23 จังหวัด
1. จังหวัดกาฬสินธุ์
2. จังหวัดกำแพงเพชร
3. จังหวัดชัยนาท
4. จังหวัดชัยภูมิ
5. จังหวัดบุรีรัมย์ (ยกเว้นอำเภอเมืองบุรีรัมย์)
6. จังหวัดแพร่
7. จังหวัดพะเยา
8. จังหวัดมหาสารคาม
9. จังหวัดแม่ฮ่องสอน
10. จังหวัดยโสธร
11. จังหวัดร้อยเอ็ด
12. จังหวัดลำปาง
13. จังหวัดลำพูน
14. จังหวัดเลย (ยกเว้นอำเภอเชียงคาน)
15. จังหวัดศรีสะเกษ
16. จังหวัดสิงห์บุรี
17. จังหวัดสุโขทัย
18. จังหวัดสุรินทร์
19. จังหวัดหนองคาย (ยกเว้นอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่และอำเภอท่าบ่อ)
20. จังหวัดหนองบัวลำภู
21. จังหวัดอุทัยธานี
22. จังหวัดอุตรดิตถ์
23. จังหวัดอำนาจเจริญ
พื้นที่เฝ้าระวังสูง รวมทั้งสิ้น 5 จังหวัด
1. จังหวัดนครพนม
2. จังหวัดน่าน
3. จังหวัดบึงกาฬ
4. จังหวัดมุกดาหาร
5. จังหวัดสกลนคร
คลิกอ่านราชกิจจานุเบกษา พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง