รีเซต

รบ.ทุ่มแสนล้าน ขุดคลองใหม่124กม. สกัดท่วมใหญ่

รบ.ทุ่มแสนล้าน ขุดคลองใหม่124กม. สกัดท่วมใหญ่
มติชน
19 สิงหาคม 2563 ( 17:08 )
197
รบ.ทุ่มแสนล้าน ขุดคลองใหม่124กม. สกัดท่วมใหญ่

รบ.ทุ่มแสนล้าน ขุดคลองใหม่124กม. สกัดท่วมใหญ่

นํ้าท่วมเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไทยต้องเผชิญแทบทุกปี ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานมีการเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมน้ำหลากมาโดยตลอด แต่บางปีก็ไม่สามารถควบคุมได้ อาจด้วยปัญหาเชิงพื้นที่หลายๆ อย่าง ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ถือเป็นภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีของประเทศไทย สร้างความเสียหายอย่างมาก ธนาคารโลกเคยประเมินมูลค่าความสูญเสียต่อทรัพย์สินต่างๆ และความเสียหายในด้านต่างๆ รวมแล้วกว่า 1.35 ล้านล้านบาท และต้องใช้เงินฟื้นฟูกว่า 7.5 แสนล้านบาท

 

ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศถึงการบริหารจัดการน้ำของไทย

ภาครัฐพยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี 2563 มีการเสนอของบประมาณจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ล่าสุดคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ 9 แผนงาน

 

แผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง วงเงินรวมกว่า 3.4 แสนล้านบาท

สำหรับการพัฒนาโครงการในปีนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิเคราะห์แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ 9 โครงการ

 

และจัดเรียงโครงการที่ควรดำเนินการในช่วงปี 2564-2570

 

ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ผลการศึกษาแผนหลัก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยา ได้จัดเรียงโครงการที่ควรดำเนินการในปี 2564-2570 คือ ระบบโครงข่ายฝั่งตะวันออกเจ้าพระยา วงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก 3.4 หมื่นล้านบาท

 

ระบบโครงข่ายฝั่งตะวันตกเจ้าพระยา 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพแม่น้ำเจ้าพระยา 2.5 พันล้านบาท บริหารจัดการพื้นที่นอกคันเจ้าพระยา 4.1 พันล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพแม่น้ำท่าจีน 2.6 พันล้านบาท พื้นที่รับน้ำนอง 12 ทุ่งเจ้าพระยา ทั้งหมดนี้เป็นแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพระบบที่มีอยู่เดิม

 

ขณะนี้มีแผนงานต้องก่อสร้างใหม่ คือ คลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท คลองระบายน้ำหลาก ป่าสัก-อ่าวไทย วงเงิน 6.5 หมื่นล้านบาท คลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท และคลองระบายน้ำหลาก ป่าสัก-คลองเชื่อม วงแหวน 3-อ่าวไทย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

 

เมื่อจัดเรียงลำดับตามแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยกรณีน้ำท่วมหนักปี 2554 ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นในรอบ 50 ปีต่อครั้ง พบว่า ควรใช้วิธีการขุดคลองเพื่อตัดน้ำหลากจากทางภาคเหนือเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ที่มีอยู่เดิม และให้ขุดคลองใหม่คู่ขนานขนาดความกว้าง 130 เมตร ยาว 100 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับคลองใหม่ ที่จะขุดจากคลองป่าสัก-อ่าวไทย 124 กิโลเมตร โดยมีทางออกของคลองบริเวณคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ

 

“แผนการนี้จะลดพื้นที่น้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรม ที่พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีได้ แต่ยังจะมีน้ำท่วมอยู่บ้างในบางพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนั้น เพื่อให้น้ำระบายลงอ่าวไทยได้เร็วขึ้น จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯได้ 100% ต้องขุดคลองใหม่ตามแนววงแหวนรอบที่ 3 ยาว 110 กิโลเมตรร่วมด้วย” อาจารย์ณัฐให้ข้อมูล

 

ด้าน สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อธิบายเพิ่มเติมว่า หนึ่งในโครงการที่สำคัญเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2554 คือโครงการตัดลำน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก และป่าสัก-อ่าวไทย วงเงินรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท

 

โครงการตัดลำน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก และป่าสัก-อ่าวไทย จะเป็นการขุดคลองใหม่ ระยะทางประมาณ 124 กิโลเมตร จากปทุมธานี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ลักษณะเป็นคลองเปิด จะผ่านที่ชุมชนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำฟลัดเวย์ และการทำวงแหวนตามข้อเสนอขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า)

 

ตามแนวคลองที่บางส่วนต้องผ่านชุมชน จะขอซื้อหรือจัดจ้าง แทนการเวนคืน หากไม่ยินยอมก็ต้องเจรจา คาดว่าจะใช้งบประมาณซื้อที่ดินรวม 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี

 

“การขุดคลองตามแนวขนานกับคลองชัยนาท-ป่าสักนั้นจะเริ่มดำเนินการในปี 2564 ส่วนจากป่าสัก-อ่าวไทย กรมชลประทานอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 9 ล้านไร่ จากที่ปี 2554 มีน้ำท่วมรวม 12 ล้านไร่ จะมีพื้นที่น้ำท่วมลึก 1 เมตร 3 แสนไร่ ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา” สมเกียรติให้ข้อมูล

 

ทั้งนี้ แผนดำเนินงาน ประกอบด้วยค่าก่อสร้างคลองระบายน้ำพร้อมถนนคันคลอง ค่าก่อสร้างอาคารประกอบตามแนวคลอง ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแยกเป็น 4 ส่วน คือ แผนงานขุดคลองขนาน ชัยนาท-ป่าสัก รวม 3.4 หมื่นล้านบาท แผนขุดคลองใหม่ ป่าสัก-อ่าวไทย 6.5 หมื่นล้านบาท แผนขุดคลองตามวงแหวนรอบที่ 3 วงเงิน 8.2 หมื่นล้านบาท และการขุดคลองเชื่อมป่าสัก-วงแหวนรอบที่ 3 อีก 1.3 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนผลสัมฤทธิ์ของแผนการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างตัดยอดน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้เพิ่มขึ้น 870 ลบ.ม.ต่อวินาที, ตัดยอดน้ำหลากหน้าเขื่อนพระราม 6 ได้เพิ่มขึ้น 800 ลบ.ม.ต่อวินาที, ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยพื้นที่นอกคันกั้นน้ำไม่ได้รับผลกระทบ, แม่น้ำท่าจีนระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ 600-650 ลบ.ม.ต่อวินาที

 

อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที, เก็บกักน้ำหลากไว้ในคลองขุดใหม่ฝั่งตะวันออกได้รวม 206 ล้าน ลบ.ม. เมื่อดำเนินการร่วมกับแผนหลัก 10 ปี ของพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน ลดพื้นที่น้ำท่วมที่รอบปีการเกิดซ้ำ 50 ปี (เทียบเท่ากับปี 2554) ได้เหลือ 3.05 ล้านไร่ ในพื้นที่ 17 จังหวัด คาดว่าจะช่วยให้พื้นที่น้ำท่วมหายไป 9.31 ล้านไร่ โดยมีน้ำท่วมสูงเกิน 1 เมตร เพียง 0.31 ล้านไร่

 

“คาดว่าเมื่อดำเนินการร่วมกับแผนหลัก 20 ปี ของพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน จะสามารถควบคุมน้ำท่วมรอบปีการเกิดซ้ำ 50 ปี ได้ทั้งหมด” เลขาฯ สทนช.สรุป

เป็นอีกโครงการยักษ์ใหญ่ที่รัฐบาลผลักดันเพื่อป้องกันน้ำท่วมใหญ่ที่อาจเกิดซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ที่จะสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างมากมายมหาศาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง