รีเซต

อำลา ‘โบอิง 747’ ลำสุดท้าย ก่อนเลิกผลิตถาวร

อำลา ‘โบอิง 747’ ลำสุดท้าย ก่อนเลิกผลิตถาวร
TNN ช่อง16
1 กุมภาพันธ์ 2566 ( 12:58 )
36
อำลา ‘โบอิง 747’ ลำสุดท้าย ก่อนเลิกผลิตถาวร

---‘โบอิง 747’ ราชินีแห่งท้องฟ้า---


ในที่สุดก็ได้ส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ ซึ่งเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าให้กับสายการบิน ‘แอทลาส แอร์’ ของสหรัฐฯ ที่โรงงานของโบอิง ในเมืองเอเวอเรตต์ รัฐวอชิงตัน ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ด้วย


เครื่องบินลำสุดท้ายนี้ถูกใส่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ที่ข้างจมูกของเครื่องบินด้วย คือ มีสติกเกอร์ข้างจมูกที่แสดงความเคารพต่อ ‘โจ ซัทเทอร์’ หัวหน้าวิศวกรของโครงการโบอิง 747 ซึ่งเสียชีวิตในปี 2016 โดยหลายคนถือว่าเป็นบิดาของเครื่องบินลำนี้เลยทีเดียว


นอกจากนี้ มีผู้แทนจากบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องบินโบอิง 747 ก็เข้ามาร่วมในงานส่งมอบครั้งนี้ด้วย 


ด้าน ‘คาร์สเตน สโปร์’ ซีอีโอของลุฟท์ฮันซ่า กล่าวว่า โบอิง 747 เป็นตัวแทนของหลายสิ่งหลายอย่าง เหนือสิ่งอื่นใดมันเป็นสัญลักษณ์ของโลก แต่ขณะนี้ขนาดของมันเล็กลงมาก 


แม้ว่าโบอิง 747 ในท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มั่นคงมากกว่าเงินสด (cash cow) แต่ในปีแรก ๆ ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก และใช้งบประมาณในการพัฒนามากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ทำให้โบอิงเกือบล้มละลายเลยทีเดียว 


---การใช้โบอิง 747 เพื่อโดยสาร ลดลงเรื่อย ๆ เหลือเพียง 44 ลำเท่านั้น---


ย้อนกลับไปเมื่อปี 1966 สายการบินแรกที่ได้ใช้เครื่องบินนี้ คือ ‘แพนอเมริกันเวิลด์แอร์เวส์’ หรือ ‘แพนแอม’ โดยโบอิง 747 นี้ เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น ก่อนที่แอร์บัส A-380 จะเกิดขึ้น ซึ่งโบอิง 747 เป็นเครื่องบินที่ถูกออกแบบใหม่ ไม่มีต้นแบบ มี 2 ชั้น และเป็นเครื่องยนต์คู่ รวม 4 เครื่องยนต์ 


เมื่อเวลาผ่านไปก็มีเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น และใช้ต้นทุนน้อยกว่า ก็ทำให้ความนิยมของโบอิง-747 ลดลง โดยรุ่นสุดท้ายของโบอิง 747 คือ B747-8I (โบอิง 747-8 Intercontinental) ที่ถูกประกาศออกมาเมื่อปี 2005


จนเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา ตามรายงานของ Cirium ทั่วโลกเหลือเครื่องบินโบอิง 747 ที่ให้บริการผู้โดยสารเพียง 44 ลำเท่านั้น จาก 130 ลำที่เคยบันทึกไว้เมื่อสิ้นปี 2019 โดยสายการบิน ‘ลุฟท์ฮันซ่า’ ก็ยังคงเป็นสายการบินที่มีโบอิง 747 ให้บิรการผู้โดยสารอยู่มากที่สุดที่ 19 ลำและทางสายการบินก็มุ่งมั่นที่จะรักษากลุ่มผู้โดยสารเหล่านี้เอาไว้อีกหลายปี หรืออีกหลายสิบปีข้างหน้าด้วย


---ซีอีโอโบอิง เผย อาจไม่ออกแบบเครื่องบินรุ่นใหม่อีกนาน---


ขณะที่เครื่องบินขนส่งสินค้าที่เป็นโบอิง 747 ยังคงใช้งานอยู่ 314 ลำ ตามรายงานของ Cirium เช่นกัน โดยส่วนใหญ่เคยเป็นเครื่องบินโดยสารมาก่อนถูกดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า ซึ่งสิ่งที่ทำให้เครื่องบินรุ่นนี้เป็นที่นิยมในการขนส่งสินค้า คือ คุณสมบัติเฉพาะของเครื่องบิน เช่น ความสามารถในการโหลดขึ้นจมูกที่โดดเด่น และตำแหน่งที่ยกสูงของห้องนักบิน ทำให้ลำตัวส่วนล่างยาวตลอดแนวพร้อมสำหรับการบรรทุกสิ่งของปริมาณมาก


นอกจากนี้ โบอิง 747 ก็ยังถูกใช้เป็นฐานบัญชาการทางอากาศในกรณีของสงครามนิวเคลียร์ ภัยพิบัติ หรือความขัดแย้งขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่คุกคามโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารและรัฐบาลที่สำคัญ โดยสหรัฐฯ ตั้งชื่อเครื่องบินว่า ‘Shepherd One’

 

และโบอิง 747 ก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องบินส่วนตัวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน โดยถูกเรียกว่า ‘Air Force One’ ซึ่งมี 2 ลำกำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิต จากเดิมที่ถูกกำหนดไว้ให้สำหรับสายการบินหนึ่งของรัสเซียที่ล้มละลายไปเมื่อปี 2015 


ด้าน ‘เดฟ คาลฮูน’ ซีอีโอของโบอิง ระบุว่า ทางบริษัทอาจยังไม่ออกแบบเครื่องบินรุ่นใหม่เป็นเวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งทศวรรษ

—————

แปล-เรียบเรียง: พิชญาภา สูตะบุตร

ภาพ: Boeing / Paul Weatherman


ข้อมูลอ้างอิง:

AP 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง