รีเซต

ค้นพบกะโหลกศีรษะของ "มนุษย์มังกร" ชี้เป็นญาติใกล้ชิดที่สุดกับโฮโมเซเปียนส์

ค้นพบกะโหลกศีรษะของ "มนุษย์มังกร" ชี้เป็นญาติใกล้ชิดที่สุดกับโฮโมเซเปียนส์
ข่าวสด
27 มิถุนายน 2564 ( 01:42 )
102

 

ทีมนักวิจัยจากสหราชอาณาจักรและสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เผยว่าได้ค้นพบมนุษย์โบราณสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเคยดำรงชีวิตอยู่ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเมื่อราว 146,000 ปีก่อน โดยมนุษย์โบราณที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดทางวิวัฒนาการกับมนุษย์ยุคปัจจุบันมากที่สุดนี้ ได้รับฉายาว่า "มนุษย์มังกร" (Dragon Man)

 

 

มีการค้นพบกะโหลกศีรษะขนาดใหญ่ของมนุษย์โบราณเพศชายในวัยราว 50 ปี ที่เมืองฮาร์บินในมณฑลเฮยหลงเจียงตั้งแต่ปี 1933 แต่มันเพิ่งได้รับความสนใจและถูกนำไปศึกษาวิเคราะห์โดยนักบรรพมานุษยวิทยาเมื่อไม่นานมานี้

 

 

K

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร The Innovation ระบุว่า "มนุษย์มังกร" เป็นเผ่าพันธุ์คนโบราณ ซึ่งมีวิวัฒนาการแยกสายออกไปจากบรรพบุรุษที่มีร่วมกันกับมนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นับว่าเป็นสายพันธุ์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกับมนุษย์ยุคใหม่มากที่สุด ในบรรดามนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วเหมือนกัน อย่างเช่นนีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal)หรือโฮโม อีเร็กตัส (Homo Erectus)

 

 

ศาสตราจารย์คริส สตริงเกอร์ หนึ่งในสมาชิกของทีมวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยากรุงลอนดอน บอกว่านี่เป็นการค้นพบทางบรรพมานุษยวิทยาครั้งสำคัญที่สุดในรอบ 50 ปี เนื่องจากสามารถเปลี่ยนแปลงประวัติความเป็นมาของวิวัฒนาการมนุษย์ได้

 

 

กะโหลกศีรษะของมนุษย์มังกรนั้นใหญ่กว่ามนุษย์สายพันธุ์อื่น ๆ โดยทั่วไป ทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาจมีขนาดของสมองเทียบเท่ากับมนุษย์ยุคใหม่ได้เลยทีเดียว นอกจากนี้มนุษย์มังกรยังมีเบ้าตาขนาดใหญ่ที่เกือบจะเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีโหนกคิ้วสูงและหนา รวมทั้งมีลักษณะต่าง ๆ ของมนุษย์ยุคใหม่และมนุษย์โบราณปะปนกันอยู่

 

 

ขนาดของกะโหลกศีรษะยังทำให้สันนิษฐานได้ว่า มนุษย์มังกรน่าจะมีรูปร่างกำยำแข็งแรง และมีส่วนสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนยุคปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังไม่พบเครื่องมือโบราณหรือหลักฐานทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ทราบถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์โบราณเผ่าพันธุ์นี้

 

 

ฉายา "มนุษย์มังกร" มาจากชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Homo longi ซึ่งคำว่า "หลง" (long) ในภาษาจีนนั้นหมายถึงมังกรนั่นเอง โดยชื่อนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อของมณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งมีความหมายว่า "แม่น้ำมังกรดำ"

 

คนงานก่อสร้างผู้หนึ่งขุดพบกะโหลกศีรษะชิ้นสำคัญนี้ในเมืองฮาร์บิน ตรงจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำซ่งฮวาเมื่อ 88 ปีก่อน โดยขณะนั้นเมืองฮาร์บินอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ทำให้ผู้ขุดพบนำกะโหลกศีรษะดังกล่าวไปซ่อนไว้ในบ่อน้ำที่บ้าน จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปีจึงได้บอกเรื่องดังกล่าวกับลูกหลาน ซึ่งพวกเขาได้นำมันมามอบให้กับสถาบันวิทยาศาสตร์ของทางการในที่สุด

 

 

แม้จะเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้น แต่นักวิทยาศาสตร์บางรายยังคงสงสัยว่า มนุษย์มังกรนั้นถือเป็นมนุษย์โบราณสายพันธุ์ค้นพบใหม่ได้หรือไม่ โดยศาสตราจารย์มาร์ทา มิราซอน ลาร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แสดงความเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วมนุษย์มังกรคือมนุษย์เดนิโซวาน (Denisovan) ซึ่งเคยมีการค้นพบซากฟอสซิลในรัสเซียและที่ราบสูงทิเบตมาก่อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง