ศึกษาพบ 'มรสุมในเอเชีย' ที่รุนแรงขึ้น ดึงดูด 'โฮโมเซเปียนส์' อพยพไปจากแอฟริกา
(แฟ้มภาพซินหัว : อุทยานธรณีดินลมหอบหมาหวงเหลียง ในเมืองอวี๋หลิน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 16 ต.ค. 2020)
ปักกิ่ง, 12 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ ผลการศึกษาเปิดเผยว่ามรสุมฤดูร้อนที่รุนแรงในเอเชียมีบทบาทสำคัญต่อการอพยพของมนุษย์โบราณจากแอฟริกาไปยังเอเชียตะวันออก เมื่อราว 120,000-70,000 ปีก่อน
การศึกษาข้างต้นดำเนินการโดยคณะนักวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมโลก สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และนักวิจัยในเกาหลีใต้ สเปน และสหราชอาณาจักร และได้รับการเผยแพร่ในวารสารโพรซีดดิงส์ ออฟ เดอะ เนชันนัล อะคาเดมี ออฟ ไซเอนซ์เซส (PNAS) ของสหรัฐฯ สัปดาห์นี้
เป็นที่เข้าใจกันว่าทวีปแอฟริกาเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์ และสภาพอากาศในภูมิภาคทางใต้และตะวันออกของเอเชียที่มีประชากรมากที่สุดส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการหมุนเวียนของมรสุม ทว่าการที่มนุษย์โบราณตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของมรสุมอย่างไรนั้นยังคงเป็นคำถามสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์
นักวิจัยของจีนและต่างชาติพยายามค้นหาว่ามรสุมฤดูร้อนในเอเชียส่งผลต่อการอพยพของโฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในปัจจุบันอย่างไร พวกเขาสร้างแบบจำลองมรสุมในเอเชียในอดีตที่มีความละเอียดสูงโดยอาศัยข้อมูลจากที่ราบสูงดินลมหอบของจีน และจำลองสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับน้ำและความชื้น (hydroclimate) ในเอเชียตะวันออกโบราณ และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อน
คณะนักวิจัยพบว่ามรสุมฤดูร้อนของเอเชียมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะในช่วง 280,000 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยจากรังสีดวงอาทิตย์ ปริมาณน้ำแข็งในซีกโลกเหนือ และก๊าซเรือนกระจก
มนุษย์โบราณกระจายตัวจากแอฟริกาไปยังเอเชียตะวันออกเมื่อราว 120,000-70,000 ปีก่อน ซึ่งตรงกับช่วงที่มรสุมเอเชียทวีความรุนแรงขึ้น และสภาพภูมิอากาศในแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ที่ย่ำแย่ลง
การศึกษากล่าวว่าปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้น และพืชพรรณเขียวชอุ่มทั่วเอเชียซึ่งมีต้นตอจากมรสุมเอเชียที่มีกำลังแรงขึ้น อาจดึงดูดโฮโมเซเปียนส์ให้อพยพไปยังทวีปเอเชีย ขณะสภาพอากาศที่เลวร้ายลงในแอฟริกาอาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการอพยพเช่นกัน