คลังชงครม.อนุมัติกฎหมาย Finance Hub ต้นเดือนก.พ.นี้
คลังชงครม.อนุมัติกฎหมาย Finance Hub ต้นเดือนก.พ.นี้ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค เปิดกว้าง 8 ธุรกิจการเงิน พร้อมตั้งซุปเปอร์บอร์ดOSA คุมการออกใบอนุญาตถึงการเพิกถอน ชี้จะเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิประโยชน์ อำนาจเบ็ดเสร็จมากกว่ากฎหมาย EEC โดยการกำกับจะยกเว้นกฎหมายการเงินรวม 7 ฉบับ
#ทันหุ้น นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจทางการเงิน(Finance Hub) เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในต้นเดือนก.พ.นี้ เมื่อครม.เห็นชอบจะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
“รัฐบาลตั้งใจจะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ หลังผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ให้สภาเห็นชอบในวาระที่ 1 ภายในปลายเดือนมี.ค.นี้ โดยจะเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิประโยชน์และอำนาจเบ็ดเสร็จมากกว่ากฎหมาย EEC”
สาเหตุที่เราต้องเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงิน เพื่อพัฒนาไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งนี้ เราเห็นโอกาสที่จะดึงนักลงทุนเข้าประเทศจากข้อจำกัดการลงทุนในศูนย์กลางการเงินในฮ่องกงสิงคโปร์ ดูไบ จึงร่างกฎหมายให้เอื้อต่อการดึงเม็ดเงินลงทุน
” Financial Hub ในแห่งอื่นๆของโลก ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือดูใบ มีข้อจำกัดบางเรื่องของการเป็น Financial Hub เราจึงได้พยายามกำจัดเงื่อนไขดังกล่าวออกไป ซึ่งข้อได้เปรียบที่สำคัญของไทยในการเป็น Financial Hub ก็คือ เรามีโครงสร้าง Financial Land Scape ที่แข็งแรง และครอบคลุมตั้งแต่คนที่รวยที่สุด ถึงคนที่จนที่สุด และเรายังมีระบบการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงจะยกระดับให้เป็นNAGA และเรายังมีค่าแรงที่ต่ำ”
เขากล่าวว่า ในตัวร่างกฎหมายจะมีจำนวน 96 มาตรา มีสาระสำคัญ เช่น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดจำนวน 8 คน เรียกว่า ซุปเปอร์บอร์ด ประกอบด้วย รมว.คลัง ทำหน้าที่เป็นประธาน มีกรรมการจากปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าธปท.เลขาก.ล.ต. เลขาคปภ. เลขากฤษฎีกาและเลขาบีโอไอ
“คณะกรรมการจะมีอำนาจตั้งแต่การออกใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และที่ไม่ใช่ภาษีแต่ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนตั้ง Financial Hub ในประเทศไทย โดยจะมีการยกเว้นการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเงินและประกันภัยรวม 7 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน,กฎหมายที่เกี่ยวกับระบบการชำระเงิน,กฎหมายหลักทรัพย์ และกฎหมายการซื้อขายล่วงหน้าเป็นต้น โดยเราได้คุยกับหน่วยงานกำกับอื่นเรียบร้อยแล้ว”
ขณะเดียวกัน จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA ) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end)
เขากล่าวว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และที่ไม่ใช่ภาษี ที่คณะกรรมการ OSA จะให้นั้น จะอยู่ในกฎหมายลำดับรอง ซึ่งเชื่อว่าจะน่าดึงดูดนักลงทุนมากกว่า Financial Hub แห่งอื่นๆในโลก ทั้งนี้ Non Tax ที่จะให้เช่น การให้สิทธิพิเศษในเรื่อง VISA และ Immigration ต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงระเบียบต่างๆเพื่อให้เกิด ease of doing business
นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า Financial Hub ของไทย ยังสามารถเชื่อมโยงกับในภูมิภาค CLMV ซึ่งทางศูนย์กลางการเงินของ ฮ่องกง ก็ต้องการเข้ามาเชื่อมกับFinancial Hub ของไทย เพื่อฮ่องกงสามารถเข้าสู่ตลาด CLMV ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันไทยก็สามารถเข้าสู่ตลาดในฮ่องกงได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
เขากล่าวว่า ภายใต้กฎหมาย Financial Hub นี้ จะเปิดให้ธุรกิจของคนไทย เช่น สถาบันการเงินต่างๆในประเทศไทย สามารถขอใบอนุญาต ภายใต้กฎหมายนี้ได้เท่าเทียมกับคนต่างชาติ แต่ภายใต้เงื่อนไขเช่นเดียวกันคือการให้บริการแก่ Non Resident ยกเว้นบางธุรกรรมที่สามารถให้บริการแก่คนในประเทศได้เช่น สามารถทำ Re Insurance ให้แก่บริษัทประกันในประเทศไทยได้ หรือ การให้บริการแก่บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศ เพื่อไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ 1) ธุรกิจเป้าหมาย Financial Hub ต้องการดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3) ธุรกิจหลักทรัพย์ 4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6) ธุรกิจประกันภัย 7) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ 8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่ คกก. ประกาศกำหนด ให้เข้ามาลงทุนและตั้งบริษัทในไทยโดยตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดและต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เท่านั้น
ทั้งนี้ จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณี ดังนี้ 1.ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้ 2. ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้
3. ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้
4. ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้
5. ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงินโดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ส่วนสิทธิประโยชน์ ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้ Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่ คกก. กำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น