เริ่มตั้งแต่วันนี้! ขสมก.แจ้งให้บริการเดินรถโดยสารตามเวลาปกติทุกเส้นทาง
วันนี้ (16ต.ค.64) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะให้บริการรถโดยสารประจำทางในทุกเส้นทาง ตามเวลาปกติ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ยกเว้นรถโดยสารบริการตลอดคืน (รถกะสว่าง) ยังคงงดให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ประชุม ศบค. ที่มีการปรับลดระยะเวลา การห้ามออกนอกเคหสถาน จากเดิมเวลา 22.00 - 04.00 น. ปรับลดลงเป็นเวลา 23.00 - 03.00 น. และอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้า เปิดกิจการได้ถึงเวลา 22.00 น.
นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 เห็นชอบให้มีการปรับลดระยะเวลา การห้ามออกนอกเคหสถาน จากเดิมเวลา 22.00 - 04.00 น. ปรับลดลงเป็นเวลา 23.00 - 03.00 น. และอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้า เปิดกิจการได้ถึงเวลา 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
ขสมก. จึงจัดแผนการเดินรถโดยสารให้สอดคล้องกับมติที่ประชุม ศบค. โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ให้บริการรถโดยสารประจำทางในทุกเส้นทาง ตามเวลาปกติ
รถโดยสารคันแรกออกจาก ท่าต้นทาง เวลา 04.00 น. รถโดยสารคันสุดท้าย ออกจากท่าปลายทาง เวลา 22.00 น. หรือตามเงื่อนไข ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งฯ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นรถโดยสารบริการตลอดคืน (รถกะสว่าง) ยังคงงดให้บริการ
2. จัดรถออกวิ่ง 100 % (2,886 คัน/วัน)
หรือจัดรถออกวิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการ ของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา โดยมีเที่ยววิ่งเฉลี่ย วันละประมาณ 25,000 เที่ยว
3. ขสมก.ยังคงดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อย่างเคร่งครัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
3.1 ด้านพนักงานประจำรถ
3.1.1 ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกครั้งก่อนขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร หากตรวจพบว่าพนักงานมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่และให้รีบไปพบแพทย์ทันที
3.1.2 กำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร
3.1.3 ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะใช้บริการรถโดยสาร กรณีผู้ใช้บริการบนรถเต็ม จะต้องใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป
3.2 ด้านรถโดยสารประจำทาง
3.2.1 เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ และการทำความสะอาดผ้าม่าน
3.2.2 ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสาร และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวดเจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือบริเวณประตูทางขึ้น
3.2.3 ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชัน“ไทยชนะ”บริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้าง ภายในรถโดยสาร สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียวและเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการ จะมีการแจ้งเตือน ผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการมีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์
3.2.4 ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชัน“หมอชนะ”บริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ในการใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว
3.2.5 ติดตั้งป้ายข้อความ “เหลือรถอีก 2 คันสุดท้าย” “เหลือรถอีก 1 คันสุดท้าย” “รถคันสุดท้าย” บริเวณกระจกด้านหน้ารถโดยสารที่วิ่งให้บริการ 3 คันสุดท้ายในแต่ละวัน
3.3 ด้านผู้ใช้บริการ
3.3.1 ผู้ใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะใช้บริการรถโดยสาร
3.3.2 ล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ที่ติดตั้งบริเวณประตูทางขึ้น
3.3.3 เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรสแกน QR Code แอปพลิเคชัน“ไทยชนะ” บนรถโดยสาร เพื่อเช็คอินเมื่อขึ้นรถ และเช็คเอาท์ก่อนลงจากรถ สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก.ทุกประเภท ควรลงทะเบียนบัตรที่ www.bmta.co.th เพื่อให้บัตรดังกล่าว สามารถเช็คอิน - เช็คเอาท์ โดยอัตโนมัติ เมื่อนำบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ มาแตะที่เครื่อง EDC เพื่อชำระค่าโดยสาร
3.3.4 เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อตอบแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) และลงทะเบียน
3.3.5 ผู้ใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษอย่างเคร่งครัด
3.3.6 ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ ชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด ผ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทของ ขสมก. บัตรเดบิต - เครดิตที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อลดการสัมผัสธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ที่อาจเป็นสื่อกลางในการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19)
ข้อมูลจาก BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
ภาพจาก TNN ONLINE